วิธีทำให้งานเขียนไม่ออกทะเล

4 รูปแบบเป้าหมายของตัวละครที่ว่ามันคือ 4 อย่างนี้ครับ

  •  Dramatic Need
  •  Goal
  •   Mission
  •  Target

เวลาเราไปบรรยาย หรือไปสอนเกี่ยวกับโครงสร้างเรื่อง หรือเกี่ยวกับตัวละคร นี่คือสิ่งนึงที่เรามักจะให้คนที่สร้างสรรค์งานต้องโฟกัส

จริงๆ แล้วการเล่าเรื่องในหนังมีสองขั้วหมวดที่จะทำให้เรื่องดำเนินไปข้างหน้า ซึ่งเราต้องให้ความสนใจกับมัน และมันจะต้องเกิดขึ้นกับตัวละครเอกเสมอ…มันคือ

“ปัญหา” และ “เป้าหมาย

เรามักจะบอกเสมอว่า “เป้าหมาย” มีไว้เพื่อให้คนดูเอาใจช่วย ส่วน “ปัญหา” นั้นมีไว้เพื่อให้เรื่องเข้มข้น

ซึ่งสองอย่างนี้สำหรับเราสำคัญและต้องสนใจพอๆ กัน

แต่สำหรับโพสต์นี้ เราจะมาโฟกัสกันที่ “เป้าหมาย” กันก่อนนะครับ

.

เวลาเราดูงานหนังสั้นนักศึกษา หรือเวลาอ่าน หรือตรวจบทหรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เราเจอคือเมื่ออ่านไปซักพัก เราเจอปัญหาของตัวละครเต็มไปหมด แต่เรากลับไม่เห็นเป้าหมายแฮะ บางทีเราไม่รู้ว่าตัวละครจะเอาอะไร ตัวละครจะไปไหน หรือตัวละครต้องการอะไร เราเลยมักจะถามคนเขียนเสมอว่า ตกลงแล้วตัวละครมันจะต้องทำอะไร หรือมันจะเอาอะไรกันแน่

.

ถ้าสิ่งนี้ไม่ชัด …คนดูก็จะไม่เอาใจช่วยตัวละคร ไม่ใช่ว่าคนดูไม่อยากจะเอาใจช่วยนะครับ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาใจช่วยอะไรถ้าเราไม่รู้ว่าเป้าหมายของตัวละครคืออะไร

ที่ Story BOWL Society เราเลยแบ่งหมวดของอะไรก็ตามที่ดูคล้ายกับคำว่าเป้าหมายออกเป็น 4 แบบ มาดูกันไปทีละอันนะครับ

Photo by Elia Pellegrini (https://unsplash.com/photos/ht4gXuLSpek)

 #Dramatic_Need

บางที่อาจจะเรียกว่า Super Objective นี่คือความต้องการสูงสุด ความปรารถนา หรือความใฝ่ฝันของตัวละคร ซึ่งใน ณ เวลาที่เรื่องดำเนินอยู่ มันจะยังเป็นแค่ความต้องการที่ดูเหมือนจะเกินเอื้อมของตัวละครของเรา เราเชื่อว่าทุกคนย่อมมีฝัน…

ตัวละครในหนังก็เช่นกันครับ ซึ่งความต้องการตรงนี้จะเป็นที่มาและเหตุผลลึกๆ ของตัวละครในการทำอะไรซักอย่างนึง สำหรับที่ Story BOWL Society เราจะให้โฟกัสกับคำง่ายๆ สามคำ คือ

  •  อยากได้
  •  อยากมี
  •  อยากเป็น

อยากได้อะไร อยากมีอะไร หรืออยากเป็นอะไรเป็นคำถามสำคัญ ในหนังทุกเรื่องที่เรารัก ส่วนนี้จะชัดเจนมาก เช่น “มาร์ตี้ แมคฟลาย” เขาอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน “โรส” ในหนังไททานิค อยากมีชีวิตที่มีอิสรภาพ “แฮร์รี่ พ็อตเตอร์” ในหนังภาคแรกอยากมีชีวิตในครอบครัวที่สมบูรณ์และกฏสำคัญคือ ความต้องการนี้ของตัวละคร จะไม่มีทางเปลี่ยนไปในตลอดที่เรื่องราวดำเนินไป และในตอนจบจะมีสามคำตอบ คือ ได้ ไม่ได้ หรือมีแนวโน้มไปทางที่จะได้มา

Photo by Anton Shuvalov (https://unsplash.com/photos/9EUwYOG3MVQ)

 #Goal

ตรงๆ เลยก็คือเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ซึ่งในหนังบันเทิงนี้จะเป็นเป้าหมายหนึ่งเดียวของตัวละคร ตัวละครต้องทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม และมันต้องเป็นรูปธรรมเพียงพอที่คนดูจะเห็นชัดและเอาใจช่วยได้ เช่น

  • มาร์ตี้ แมคฟลาย เป้าหมายของเขาคือกลับสู่อนาคตให้ได้
  • เป้าหมายของโทนี่ สตาร์ค คือกำจัด ธานอส
  • เป้าหมายของคนแข่งมาสเตอร์เชฟคือ ต้องการเป็นมาสเตอร์เชฟของซีซั่นนั้นให้ได้

อะไรแบบนี้ แต่ Goal ต่างจาก Dramatic Need ตรงที่ Goal สามารถเปลี่ยนแปลงได้ครับ

ถ้ามองกันในเชิงโครงสร้าง หลังจากเรื่องราวหักเหที่ Turning Point หรือ Mid point แล้ว บางครั้งเป้าหมายตัวละครอาจจะเปลี่ยนไป อย่างในหนังสืบสวนสอบสวนระทึกขวัญ ตอนแรกเป้าหมายของตัวละครของเราอาจจะเป็นจับฆาตกรให้ได้ แต่พอกลางเรื่อง เมียและลูกของเขาถูกฆาตกรจับไป กลายเป็นเป้าหมายของเขาต้องกลายเป็น ต้องช่วยลูกเมีย อะไรแบบนี้ครับ แต่ในการเปลี่ยนแปลงนั้นมันต้องมีความสอดคล้องกันอยู่ ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นหนังคนละม้วนกันนะ

Photo by David Iskander (https://unsplash.com/photos/GTnFf_44e7o)

 #Mission

เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งเป้าหมายนั้น เขาต้องทำอะไรบ้าง มันคือวิธีการปฏิบัติหรือสิ่งที่ต้องทำ… ซึ่งมันจะกลายเป็นภารกิจย่อยๆ ซึ่งมันอาจจะตั้งภารกิจหลัก และตัวหลักล้มเหลว จะแก้มันก็แตกออกเป็นภารกิจย่อยๆ ขึ้นมา หรืออาจจะเป็นแบบสเต็ปของภารกิจ ต้องมีสิ่งนี้ถึงจะมีสิ่งนั้น อะไรแบบนี้เป็นต้นครับ ถ้าเป็นใน Master chef Mission ของพวกเขาก็คือโจทย์ในแต่ละสัปดาห์นั่นแหละครับ

หนังจะสนุกหรือไม่ การดีไซน์ในส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่หนังดราม่านะ

สมมุติว่า

มีผู้ชายคนหนึ่งต้องการให้ครอบครัวมีความสุข เขาจึงต้องพยายามทำให้ลูกสาวยอมรับในตัวเขา โดยเริ่มต้นจากเขาจะจัดแคมป์ที่ให้ครอบครัวได้ไปเที่ยวป่าชิลๆ แล้วเปิดใจคุยกัน ระหว่างทางรถดันยางแตก แถวนั้นไม่มีใคร กลายเป็นต้องหาวิธีซ่อมยางที่แตกก่อน พอจะแยกกันออกไหมครับ ว่าอันไหนคือ Dramatic Need อันไหนคือ Goal และอันไหนคือ Mission

Photo by Afif Kusuma (https://unsplash.com/photos/RjqCk9MqhNg)

 #Target

ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี เรียกว่าเป้าหมายสุดท้ายก็แล้วกัน อันนี้จะเกิดขึ้นเพราะมันจะทำให้เกิด Climax ของเรื่องราวครับ ว่ากันตามโครงสร้าง มันจะมาหลังจากที่ตัวละครค้นพบทางออกหลังจากช่วงตกต่ำของเขาแล้ว เขาอาจจะได้บทเรียนอะไรบางอย่าง หรือเขาอาจจะพบทางออก แต่เขารู้วิธีแล้วว่า เขาจะจัดการกับสิ่งที่เขาเผชิญอยู่อย่างไร ถ้าเป็นหนังผีก็คือรู้วิธีปราบผีแล้วล่ะ เมื่อรู้แล้วจะรออะไรล่ะ …ก็ลุยกันเลยสิครับ เขาชัดเจนแล้วว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร เหลือแค่ลงมือทำ และนี่จะทำให้เขาได้ลุกขึ้นเผชิญกับอุปสรรคหลัก เพื่อทำให้เขาบรรลุเป้าหมายของเขา

เมื่อเหล่ามนุษย์ใน ID4 ค้นพบแล้วว่าเขาต้องอัปโหลดไวรัสลงในยานแม่ ที่เหลือคือเขาจะต้องไปทำสิ่งนั้นล่ะ ซึ่งใน Target นี้ อาจจะมี Mission ย่อยๆ อีก เช่น

  1. ต้องเตรียมเกณฑ์คนฝูงบินรบ เพื่อไว้เผด็จศึกตอนยานลดเกราะ

2.   ขึ้นไป upload ไวรัส

3.  upload ไวรัสแล้ว ลดเกราะยานลูก

4.   ฝูงบินระเบิดยานลูก

5.   ยานมนุษย์ในยานแม่ วางระเบิดแล้วรีบหนีออกมา

6.   จุดซิการ์ได้…เย้!!!

อะไรแบบนี้เป็นต้นครับ

สิ่งที่พูดมาทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของวิธีการทำให้คนดูเอาใจช่วยตัวละครนะ เห็นมั้ยล่ะ ว่าหมวดนี้มันสำคัญ ชัดในบท มันจะชัดไปที่การกำกับ การดีไซน์ และการแสดง และคนดูก็จะรู้ชัด และรู้ว่าจะเชียร์อะไรกับตัวละครหลักของเราดี

บทความนี้ แอดคิดว่าหลายๆ คนน่าจะเอามาปรับใช้กับการสร้างตัวละครได้ในหลากหลายการทำงานค่ะ ทั้งบทภาพยนตร์ ละคร นิยาย การ์ตูน เกม ฯลฯ หากใครคิดว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ ฝากแชร์กันได้นะคะ แล้วครั้งหน้าแอดจะไปตามหาบทความที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านสนุกด้วย ได้ความรู้ด้วยมาอีกค่ะ

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *