ตัวละครในโลกนี้มีอยู่ 9 ประเภท บทความนี้ถูกถ่ายทอดโดย อ.ทีม โชติอนันต์ เกษมวงศ์หงษ์ Script Analyst และนักเขียนบทมืออาชีพ มารู้จัก อ.ทีมผ่านบทความที่เคยเขียนลงไว้ เรื่องนี้ก็มีประโยชน์มากๆ สำหรับคนที่ตันกับการคิดตัวละครค่ะ อ.ทีมมาแนะนำให้รู้จักอีกสูตรในการแบ่งตัวละครกัน ลองไปดูกันเลยค่ะ
เนื่องจากมีน้องๆ หลายคนมาปรึกษาเรื่องบทภาพยนตร์ แล้วพบว่าปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยมากๆ คือตัวละครไม่ชัด ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากการที่ไม่เข้าใจตัวละครที่เราสร้างดีพอ ผลที่ตามมาคือไม่มีความน่าเชื่อถือ และท้ายที่สุดทำให้เส้นเรื่องหรือโครงเรื่องแกว่งไม่ชัดเจนไปอีก เท่ากับทุกอย่างพังทลาย เพราะเรื่องราวทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีจุดเริ่มต้นจาก “ผู้กระทำ” ซึ่งก็คือ “ตัวละคร” นั่นเอง
วันนี้เลยจะแนะนำให้รู้จักกับลักษณะตัวละครทั้ง 9 ประเภท ถูกแบ่งโดย Laurie Hutzler นักเขียนและอาจารย์ผู้สอนด้านการเขียนบท ซึ่งถูกเสนอในหนังสือหลายเล่ม และเว็บไซต์ของเธอ โดยเธอจัดแบ่งลักษณะตัวละครในโลกภาพยนตร์และซีรีส์ตามหลักแห่งการกระทำและจิตวิทยา
ตามปกติเด็กฟิล์มก็ถูกสอนมาอยู่แล้วแหละว่าลักษณะของตัวละครถูกแบ่งเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ (Physiology) มิติทางสังคม (Sociology) มิติทางจิตวิทยา (Psychology) แต่เรามิเคยได้ลงไปศึกษาด้านต่างๆ นั้นอย่างจริงจัง ทำให้ตัวละครที่ถูกสร้างมานั้นขาดความลึก
Laurie Hutzler เลยลงไปศึกษา มิติทางจิตวิทยา (Psychology) และนำเสนอ Emotional Depth of Field หรือความลึกทางอารมณ์ เปรียบเสมือนภาพหนึ่งภาพ ที่มีทั้งพื้นหลัง (Background) พื้นกลาง (Middle ground) และด้านหน้า (Foreground) อารมณ์ก็เช่นกัน ซึ่งเธอก็ได้นำมาจัดแบ่งลักษณะตัวละครออกเป็น 9 ประเภทและอธิบายโดยสรุป ได้ดังนี้…
(1) Power of Idealism
เป็นตัวละครที่อยู่ในอุดมคติหรือมีอุดมการณ์ของตัวเองที่ชัดเจน ตัวละครประเภทนี้มักจะเป็นพวกดราม่าจัด คิดว่าเจ็บปวดเจียนตายดีกว่าไม่รู้สึกอะไรเลย (Epic Hero) มี passion ในการใช้ชีวิตมาก ค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ชีวิตตัวเอง มาตรฐานสูง ดำเนินชีวิตตามอุดมการณ์ของตน รักแรง เกลียดแรง
ตัวอย่างเช่น King Leonides (300) , Carrie Bradshaw (Sex and the City), อังศุมาลิน (คู่กรรม)
(2) Power of Conscience
เป็นตัวละครที่ครองสติได้ดีเยี่ยม ความรู้สึกไว มีลางสังหรณ์ คิดหน้าคิดหลังก่อนเสมอ ตัดสินใจเร็ว และเด็ดขาด คิดว่าคนอื่นต้องพึ่งพาตัวเองเสมอ เป็นกังวลกับสิ่งที่ต้องรับผิดชอบและผลที่จะตามมา
ตัวอย่างเช่น Oskar Schindler (Schindler’s List), Oliver Queen (Arrow), Queen Elizabeth (The Queen), John Snow (Game of Throne) เป็นต้น
(3) Power of Excitement
ตัวละครประเภทนี้ชอบความตื่นเต้น เร้าใจ เชื่อว่าชีวิตเป็นสนามเด็กเล่นและการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ (Forever Young) มักเป็นผู้สำรวจ คิดค้นสิ่งต่างๆ อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดีเสมอ ไม่ชอบการผูกมัดหรือรับผิดชอบอะไรจริงจัง มักเป็นตัวสร้างเรื่อง ตัวป่วนของเรื่อง แต่มีเสน่ห์ตรงที่เอาตัวรอดเก่ง
ตัวอย่างเช่น James Bond, Indiana Jones
(4) Power of Love
ตัวละครที่บูชาความรัก ชอบทำตัวให้คนอื่นรู้สึกว่าเขาจะต้องขาดตัวเองไม่ได้ อารมณ์ประมาณ “ฉันทำทุกอย่างเพื่อเธอ เธอต้องรักฉันตอบแทน” ชอบแสดงความเป็นเจ้าของ เล่นใหญ่และให้ความสนใจกับคนที่ตนเองชอบอย่างออกหน้า ชอบผลักให้คนอื่นทำอย่างโน้นอย่างนี้
ตัวอย่างเช่น แม่พระเอกหรือนางร้ายทั่วไปในละครไทย, Steve Brady (Sex and The City), Loretta Castorini (Moonstruck), แม่นาก
(5) Power of Reason
ตัวละครเจ้าเหตุผล ชอบแก้ปัญหา และมองสิ่งต่างๆ เป็นวิทยาศาสตร์ให้สำรวจ แก้ไข เชื่อว่าทุกสิ่งในโลกสามารถหาเหตุผลเพื่ออธิบายที่มาที่ไปได้ ไม่ชอบอยู่นอกระบบ พยายามไม่เอาอารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ไม่เชื่อเรื่องเหนือจริง ใจเย็น วางฟอร์มตลอดแม้ข้างในจะร้อนรนแค่ไหนก็ตาม
ตัวอย่างเช่น Spock (Star Trek), Father Damien Karras (The Exorcist), ท่านชายพจน์ (ปริศนา)
(6) Power of Will
ตัวละครแห่งความมุ่งมั่น อยากได้อะไรต้องได้ สู้สุดทางเพื่อสิ่งที่ตนต้องการ เชื่อว่าคนที่แข็งแรงเท่านั้นถึงจะอยู่รอด เลี่ยงการแสดงจุดอ่อนให้คนอื่นรู้ แต่พยายามเอาจุดอ่อนของคนอื่นออกมาให้ได้ จำแนกมนุษย์ว่าเป็น “ผู้ล่า” และ “เหยื่อ” คิดว่าการถูกทำให้กลัวดีกว่าการถูกทำให้รัก ไม่ชอบอยู่ใต้ใคร ไม่ชอบอ่อนแอหรือเปราะบางให้ใครเห็น ส่วนใหญ่มักถูกนำมาใช้เป็นผู้ร้าย แต่ก็สามารถนำมาเป็นตัวเอกที่ซับซ้อนและมีเสน่ห์ได้
ตัวอย่างเช่น Michael Corleone (The Godfather), Samantha Jones (Sex and the City), Malcolm Merlyn (Arrow), มุนินทร์ (แรงเงา)
(7) Power of Ambition
ตัวละครแห่งความทะเยอทะยาน สำหรับเขาหรือเธอไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความสำเร็จที่ได้รับการยอมรับแม้ว่าต้องแลกมาด้วยการโกหก หลอกลวง เป็นหนี้ คนภายนอกมักมองว่าโหดร้าย ประเมินค่าตัวเองและผู้อื่นเป็นสิ่งของ ต้องการเป็นที่ยอมรับหรืออยู่ในสายตาคนอื่น หากล้มเหลวจะผิดหวังจนถึงขั้นประชดชีวิตได้
เช่น ลำยอง (ทองเนื้อเก้า), Miranda (Sex and the City), Suzanne Stone (To Die For)
(8) Power of Truth
ตัวละครที่ยึดมั่นกับความจริง ชอบจับผิด เชื่อว่าโลกนี้เต็มไปด้วยอันตราย ศัตรูที่มองไม่เห็น คติคือ “ไม่มีใครไว้ใจได้” ไม่เชื่อใครง่ายๆ ชอบจับผิดในความสัมพันธ์และสถานการณ์ต่างๆ รอบตัว มักเป็นตัวละครเอกในหนังลี้ลับ สืบสวนสอบสวน
ตัวอย่างเช่น ไผ่ (Hormones วัยว้าวุ่น), Clarice Starling (The Silence of the Lambs), Leonard Shelby (Memento)
(9) Power of Imagination
ตัวละครแห่งจินตนาการ เป็นตัวละครที่มองเห็นโลกอีกโลกหนึ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น มีจินตาการ มองโลกในแง่ดี มีความเป็นธรรมชาติ สถานการณ์บางอย่างจะผลักดันให้ตัวละครประเภทนี้กลายเป็นวีรบุรุษได้ จากวิสัยทัศน์ของตัวละครประเภทนี้ที่ต่างจากคนอื่น เป้าหมายของพวกเขามักเป็นการเรียกคืนความสามัคคีหรือความสมดุลแก่โลกที่พวกเขาอยู่
ตัวอย่างเช่น Luke Skywalker (Star Wars), Frodo (The Lord of the Rings), Amelie Poulain (Amelie)
จากตัวละครแต่ละประเภทจะเห็นได้ว่าสามารถถูกใช้เป็นตัวละครหลักหรือตัวละครรอง ตัวร้ายได้ทั้งสิ้น การประยุกต์ใช้คือ หาแนวทางให้กับตัวละครของตนว่าถูกผลักดันด้วยพลังแบบใด มีทัศนคติอย่างไร และดันพลังเหล่านั้นให้ชัดเจนขึ้น ไม่ได้มีกฏเกณฑ์ตายตัวแต่อย่างใดว่าภาพยนตร์ประเภทนั้นๆ ต้องใช้ตัวละครประเภทใด หากแต่ตัวละครที่ถูกผลักดันโดยพลังคนละแบบ นำมาสู่ผลลัพท์ของการกระทำที่ต่างกันไปด้วย
เช่น ตัวละครแบบ Power of Excitement เมื่ออยู่ในภาพยนตร์รักโรแมนติก เขาหรือเธออาจต้องการความรักที่หวือหว่าตื่นเต้น ในขณะที่ตัวละครแบบ Power of Truth ต้องการความจริงใจในความสัมพันธ์ ความมั่นคง ความเชื่อใจมากกว่าความตื่นเต้น นำไปสู่เส้นเรื่องหรือโครงเรื่องที่ต่างกันออกไปนั่นเอง