คุณเน-ญาดา บรรณาธิการ “พูนิก้าสำนักพิมพ์” กับปัญหาของบ.ก.และนักเขียน ที่ได้รับการแก้ไขด้วยการพัฒนาทักษะทั้งองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว

สำหรับผู้ที่ใฝ่ฝันอยากตีพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์ บางทีคงจะสงสัยใช่ไหมคะว่างานทำงานระหว่างนักเขียนกับบรรณาธิการนั้นทำงานกันในรูปแบบไหน คุยอะไรกัน และมีเนื้องานที่สัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง แล้วอะไรที่เป็นสิ่งที่ควรรู้ในการพัฒนาตัวเองให้มีทักษะในการทำงานร่วมกันกับสำนักพิมพ์ได้ วันนี้เราจะมาทุกคนมารู้จักกันกับ คุณเน-ญาดา แสนทวีสุข บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์พูนิก้า หวังว่าบทความนี้จะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คนได้นะคะ

แนะนำตัวเองสักเล็กน้อยค่ะ

สวัสดีค่ะ ชื่อ เน ญาดา แสนทวีสุข นะคะ เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์นิยาย-การ์ตูนวัยรุ่นแนว Black Fantasy ที่มีผลงานยอดนิยมเช่นเรื่อง การิน ปริศนาคดีอาถรรพ์, ภาม คนรับจ้างตาย, 1880 วัตสัน&โฮล์ม ตุ๊กตากลคู่คนอัจฉริยะ, เชียร ภาคีทัณฑ์อาถรรพ์, วงกต เรื่องเฮี้ยนหลังห้อง ฯลฯ ค่ะ

ในส่วนของหน้าที่รับผิดชอบหลักๆ คือดูแลในส่วนของต้นฉบับนิยายไทย ตั้งแต่กระบวนการการคิดพล็อตกับนักเขียนซึ่งเมื่อกระบวนการทำพล็อตเสร็จแล้วขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการเขียน Treatment หรือโครงเรื่องขยาย เมื่อเขียนเสร็จก็จะเป็นส่วนของ Story (เนื้อเรื่อง) ทำไปจนจบกระบวนการปิดเล่ม พิสูจน์อักษรไปจนถึงส่งเข้าโรงพิมพ์เลยค่ะ

การทำงานระหว่างนักเขียนและบรรณาธิการ
การทำงานร่วมกันระหว่างนักเขียนและบ.ก.จะเริ่มต้นตั้งแต่คิดพล็อตร่วมกันในตอนต้นเลย เป็นโจทย์ที่สำนักพิมพ์ตั้งมาว่าช่วงนี้เราอยากสร้างผลงานแบบไหน หรือเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องเป็นซีรีส์ ซึ่งบางทีมันก็อาจจะมีพล็อตตั้งต้นมาจากทางนักเขียนหรือทางบ.ก.ที่มองว่าเล่มต่อไปเรามาทำแบบนี้กันเถอะ หรือแม้กระทั่งนักเขียนที่มีไอเดียผุดขึ้นมาระหว่างเขียนเล่มก่อนหน้านี้ ก็จะมานำเสนอบ.ก. ด้วยความที่พูนิก้าทำเป็นซีรีส์ไม่ว่าการ์ตูนหรือนิยาย มันจะมีโครงสร้างเรื่องแบบยาวๆ วางไว้อยู่แล้ว แต่ระหว่างทางที่จะเป็นรายเล่มเนี่ยก็จะต้องมีการจับประเด็นบางอย่างขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราจะเฉลยในระหว่างทาง เพราะฉะนั้นรายเล่มที่ว่านี้มันก็คือไอเดียของนักเขียนและบ.ก.ที่ผุดขึ้นมาระหว่างทางนี่แหละ บางทีก็เป็นเรื่องที่กำลังมีกระแสอยู่ในช่วงนั้นอย่างเช่น เรื่องการิน ปริศนาคดีอาถรรพ์ที่มีตอน ฆาตกรรมสาปโซเชียล ซึ่งในตอนนั้นกำลังมีกระแสเรื่อง Social Bully เยอะมาก เราจึงหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเล่นกับอาถรรพ์ค่ะ

จากความชอบสู่ความฝันที่เป็นจริงในวงการงานเขียนในฐานะบรรณาธิการผู้อยู่เบื้องหลัง

เนเริ่มต้นทำงานที่สำนักพิมพ์พูนิก้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ก่อนหน้านี้ตัวเองก็เคยเขียนนิยายและเรื่องสั้นเหมือนกันนะ แต่จริงๆ เป็นคนที่ชอบอ่านการ์ตูนมากกว่า พอมาอยู่ในช่วงทำงานก็รู้ได้เลยว่าเราเป็นคนชอบเล่าเรื่อง จะเล่าสนุกไม่สนุกไม่รู้แต่เราชอบเล่า เลยทำให้เราชอบเสพเรื่องราวจากการดูหนัง ดูซีรีส์ อ่านการ์ตูน อ่านนิยาย ค่อนข้างเยอะและเราก็มีเรื่องที่เราอยากเล่าออกมาให้คนได้ฟังกัน ซึ่งตอนแรกก่อนหน้านี้ทำเป็นบรรณาธิการเหมือนกันแต่ว่าเป็นบรรณาธิการหนังสือแนวเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ออกแนวเป็นหนังสือแมกกาซีนแล้วมีการอัพเดตเทคโนโลยีประมาณนี้ค่ะ พอได้ลองทำไปสักพักแล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางเรา เราไม่อยากเล่าเรื่องที่แบบนี้ สิ่งที่เราชอบจริงๆ เป็นการ์ตูน เป็นนิยายที่เราเคยอ่านมาตั้งแต่เด็กมากกว่า ด้วยความที่ว่าพ่อเป็นคนชอบอ่านการ์ตูน แม่ชอบอ่านนิยายด้วย ก็เลยเหมือนกับว่าเราอยู่กับสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก แล้วตอนนั้นพูนิก้าเปิดรับสมัครบรรณาธิการ ก็เลยตัดสินใจมาสมัครค่ะ

ก้าวเข้าสู่เส้นทางความฝัน…กับการเรียนรู้ระหว่างทาง

ด้วยความที่เราไม่ได้เรียนเกี่ยวกับบรรณาธิการมาตั้งแต่ต้น แต่ได้เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องอย่าง Researcher กับวรรณกรรมมาบ้าง ด้วยความที่มันเป็นการทำงานครั้งแรกเลยอะ เราเป็นเหมือนแก้วที่ไม่มีน้ำอยู่เลย เราเลยไม่ได้คาดหวังว่าเราจะต้องมาทำงานแบบนี้นะ เราไม่มีวิธีการหรือขั้นตอนกระบวนการว่าจะต้องทำแบบนี้ เรามีแค่ว่าเราอ่าน Story นี้สนุกหรือไม่สนุก มันจะต้องปรับตรงนู้น ตรงนี้แล้วเรื่องมันจะสนุกมากขึ้นประมาณนี้ค่ะ ในตอนแรกเลยก็ถูกจับคู่กับนักเขียนว่าให้เขียนซีรีส์เนื้อเรื่องย่อประมาณนี้ ซึ่งก็ออกมาเป็น เรื่อง “Return กลับมาพยาบาท” ตอนนั้นทำกับพี่เนบิวลา นักเขียนที่ทำกับสำนักพิมพ์มาก่อนหน้านี้แล้ว มันเป็นการทำงานที่สนุกมากเพราะว่าเหมือนว่าพี่เนบิวลาเขาก็มีเรื่องที่จะเล่าอยู่ตลอด ตอนนั้นเราต้องขับเคลื่อนคาแรกเตอร์ในเรื่อง 3 ตัวของเราว่าตอนแรกสุดเขาจะเจอปัญหาปริศนาอย่างนี้ ปลายทางเขาจะแก้อะไร เขาจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อที่จะให้ไปถึงจุด Climax หรือว่าไขปมปริศนาทั้งหมดของเขา เราเหมือนค่อยๆ เดินตามตัวละครว่าเขาจะไปเจออะไรบ้าง ลองหย่อนปัญหาลงไป ตัวละครเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ยังไง ซึ่งการทำงานกับนักเขียนในช่วงต้นก็จะเหมือนเราเป็นทีมเดียวกัน ที่รับผิดชอบคนละบทบาท เราผลัดกันใส่ไอเดียและต่อยอด โดยมีนักเขียนลงมือเขียนมันออกมา ส่วนเราก็เป็นคนที่ช่วยรีเชคประเด็น ซัพพอร์ตงานทั้งหมดอยู่ข้างหลัง

มีปัญหาระหว่างการทำงานบ้างไหม?

ถ้าถามถึงปัญหา ก็มีปัญหาอยู่บ้างเพราะเวลาคุยกับนักเขียนในช่วงแรกเลยเราคุยกันนานมากหลายชั่วโมงเลย ซึ่งสาเหตุที่คุยยาวเป็นเพราะ หนึ่งเลย…ไอเดียฟุ้งทั้งบรรณาธิการและนักเขียน ก่อนถึงปลายทางมันเลยไม่ได้ขมวด ซึ่งมันมีทั้งข้อดีและข้อเสียแหละ พอไอเดียฟุ้งมันก็ดีหาไอเดียได้เยอะแต่มันก็ใช้เวลานานมาก กว่าจะจบเรื่อง สอง…คำศัพท์ที่ใช้คนละคำกัน พอมันใช้ชุดคำศัพท์คนละชุดกัน คนละความเข้าใจ มันก็ไม่ตรงกันสักที การที่จะอธิบายว่า ฉากนั้น ซีนนี้มันยังไม่พีค เป้าหมายตัวละครคืออะไร อุปสรรคของเรื่องอยู่ตรงไหน อะไรพวกนี้ มันเข้าใจไม่ตรงกันสักที พอมันไม่ตรงกันกลายเป็นว่าคุยกันคนละเรื่อง

แล้วแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร?

ตอนนั้นทางทีมบรรณาธิการบริหารบอกว่าพี่เมษ ผู้กำกับภาพยนตร์การินฯ ที่มาเขียนบทและกำกับให้ซีรีส์ของสำนักพิมพ์เรา กำลังเปิดสอนอยู่สนใจที่จะไปเรียนไหม ซึ่งคลาสเรียนมันดูน่าสนใจดีเป็นการสอนพื้นฐานน่าสนใจดีด้วย แล้วก็แบบอยากรู้อยากเห็นอยากเพิ่มประสบการณ์เพิ่มความรู้ของเราแหละ เราก็เลยไปลองเรียนดูดีกว่า สิ่งที่ชอบสุดก็คงจะเป็นเรื่องของการทำโครงสร้างเรื่อง Lock Story Line ที่ตอนนั้นรู้สึกชอบเพราะว่าสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับนิยายได้เลย พอมันมีอันนี้มันช่วยให้เราคุยกับนักเขียนเป็นภาษาเดียวกัน คุยกันแล้วเข้าใจมากขึ้น 

จริงๆ จากที่ได้เรียนแล้วมีคำศัพท์ที่เราหลงลืมไปแล้วด้วยนะ จากบทเรียนที่เรียนมาตอนมหาวิทยาลัยเราไม่ได้เอามาใช้กับนักเขียน เราเรียนเราใช้เอง พอพี่เมษสอนอีกรอบนึง เราก็เลยเอาคำศัพท์พวกนี้ไปใช้กับนักเขียน แล้วก็มีส่งนักเขียนไปเรียนกับพี่เมษด้วย เขาจะได้รู้และเราจะได้ใช้ศัพท์คำเดียว เพราะว่าบางคนเขาก็เขาก็มีคำเฉพาะของเขา หรือบางคนไม่ได้จบด้านการเขียนมาโดยตรง ซึ่งก็อาจจะมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน แต่พอเราเข้าใจแบบเดียวกันแล้ว เวลาเราคุยงานเราก็จะคุยไปในทิศทางเดียวกัน ใช้คำศัพท์ชุดเดียวกัน และก็เข้าใจกันง่ายขึ้นมากๆ 

เมื่อประยุกต์สิ่งที่เรียนกับการทำงานจริง ผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไรบ้าง

พอมีเครื่องมือ Story Tools มาช่วยไกด์ก็ทำงานได้เร็วขึ้นค่ะ นักเขียนก็สามารถแตกทิศได้เลย ในบทเรียนมันมีการใช้ Story’s Map ที่พล็อตกราฟในแต่ละจุดไว้แล้ว ตอนประชุมเราก็มาพล็อตกราฟกันก่อนซักเล็กน้อยเพื่อให้การคุยงานของเราเร็วและเห็นภาพชัดขึ้น เราจะได้รู้ว่าจะไปตรงไหน ควรมีที่มาเป็นยังไง Need ของตัวละครแต่ละตัวเป็นเป็นยังไง มันสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน ทุกอย่างมันกลายเป็นง่ายขึ้น สะดวกขึ้นมากๆ เลยค่ะ

อีกส่วนคือ เครื่องมือ Story Tools ของพี่เมษที่เริ่มตั้งแต่จุดประกายไอเดีย สร้างตัวละครและจบเป็นพล็อตเรื่อง สำหรับใครที่ชอบเล่าเรื่อง แต่ยังจับทิศทางไม่ถูก ไม่รู้หมุดหมายที่ควรต้องมี หรือยังหาไอเดียในการสร้างเรื่องไม่ได้ หรือยังไม่รู้จะเริ่มต้นเล่าเรื่องยังไง การที่ได้เรียน ได้เสริมทักษะให้ตัวเองให้เราสามารถจับกลุ่มก้อนไอเดีย จับคู่ไอเดียที่มันน่าสนใจใหม่ที่เราอาจคาดไม่ถึงมาก่อน ก็อยากแนะนำให้ลองเริ่มจากนำเครื่องมือของ Story BOWL มาลองใช้ดูค่ะ คุณก็สามารถใช้เครื่องมือพวกนี้มาระดมไอเดียจับคู่จากสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะมาเจอกันได้และมาหย่อนใส่ตัวละครของเรา มันอาจจะมีอะไรใหม่ๆ หรือโจทย์ให้คุณมานั่งแก้กับตัวละครของคุณก็ได้ 

ลงลึกขึ้นกับคลาส “เขียนบทขั้นกว่า” ในแบบ Character Insight ของอาจารย์ทีม

ค่ะ ได้มีโอกาสเรียนอีกคลาสของอาจารย์ทีม เป็นคลาสเขียนบทขั้นกว่า เนชอบคลาสนี้มากๆ แต่คลาสนี้จะไม่เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นหรือมือใหม่ ต้องมีพื้นฐานหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องมาบ้าง เว้นแต่จะหัวไวจริงๆ หรือคนที่เสพคอนเทนต์เยอะๆ อาจารย์ทีมไม่ได้สอนยากนะคะ สอนเข้าใจง่าย แต่บทเรียนมันต้องเป็นคนที่ผ่านการสร้างงานมาแล้วระดับนึง ถ้ามีพื้นฐานอยู่มันจะช่วยให้เราเข้าใจง่ายและช่วยอัพสกิลของเราได้ดีมากๆ เลย อาจารย์ทีมมีเครื่องมือมาแนะนำหลายอย่าง พออาจารย์เขาเอาองค์ประกอบต่างๆ มาย่อยให้ฟัง ยกตัวอย่างพร้อมมีเวิร์คช็อปให้ทำจริง ทำให้เราเข้าใจได้เร็วขึ้นมากๆ แล้วก็สนุกมาก เครื่องมืออันที่ชอบที่สุดคือ Fill of conflict คือเป็นการที่ตัวละครตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน แล้วตัวละครจะต้องแก้ปัญหาหรือหาทางออกนั้นให้ได้ แต่ยิ่งแก้ก็กลับยิ่งแย่ เป็นการพาคนดูลุ้นตามและทำให้เรื่องสนุกขึ้นไปอีก ซึ่งตัวนี้เป็นเครื่องมือที่ดีมากเลย เพราะว่านักเขียนหลายๆ คน มักจะคิดตอนต้นได้ว่ามันสนุกยังไง แล้วตอนจบได้ว่ามันสนุกยังไง แต่ระหว่างทางที่มันควรจะเป็นจุดที่สนุกที่สุด ที่มันจะต้องดำเนินเรื่องให้คนดูดูจนจบมันคือการสร้าง Scene สร้าง Sequence มันคือช่วงเรื่องระหว่างทางที่จะทำให้เรื่องมันสนุกขึ้นเรื่อยๆ เป็นอีกคลาสที่แนะนำค่ะ (ปัจจุบันส่วนที่คุณเนกล่าวถึงนี้อยู่ในคลาส Character Insight สามารถเข้าดูคลาสได้ที่นี่ https://storybowl.co/courses/characterinsight/)

อยากฝากอะไรให้กับคนเดินอยู่บนเส้นทางงานเขียน

สำหรับคนที่จะเป็นนักเขียน สิ่งที่อยากให้ทำอย่างแรกเลยคือคุณต้องเริ่มต้นเขียนก่อน คือมันเป็นประโยคที่ธรรมดา แต่มันเป็นเรื่องจริงมากๆ ถ้าคุณไม่ได้เริ่มเขียนคุณก็จะไม่ได้เริ่มต้น คุณเขียนอะไรก็ได้ หรือถ้าไม่รู้จะเริ่มจากอะไรให้เริ่มจากเล่าเรื่องสิ่งที่คุณเจอในชีวิตประจำวันก่อน แต่ถ้าคุณเริ่มไม่ได้จริงๆ ลองใช้เครื่องมือ Story Tools ดูก็ได้ค่ะ เพราะเครื่องมือนี้มันถูกคิดค้นมาให้สำหรับคนที่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง หรือว่าคนที่รู้แล้ว มันอาจจะได้ความสนุกคนละแบบ เพียงที่คุณอยากเล่าอะไร คุณลองกรอก First Idea ลงไปก่อน แค่นี้อย่างน้อยมันทำให้คุณได้เริ่มต้นแล้ว ดีกว่าที่นั่งอยู่หน้าจอขาวๆ ส่วนคนที่เคยมีประสบการณ์แล้ว หากได้ใช้เครื่องมือนี้คุณอาจจะได้มุมมองหรือวิธีคิดใหม่ๆ เข้ามาช่วยงานของคุณ ส่วนเรื่องจะประสบความสำเร็จหรือไม่อันนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะมันมีองค์ประกอบหลายอย่างมากๆ ไม่เพียงแค่งานเขียนอย่างเดียว มันมีเรื่องของเวลา ทีมบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ อย่างเจเค โรว์ลิ่ง เขาเองก็ไม่ได้เขียนแล้วนำไปเสนอสำนักพิมพ์แล้วจะผ่านเลย เขาก็ต้องเพียรพยายามอยู่เป็นเวลานานเลย

จึงมาสู่ข้อสอง นั่นคือความมุ่งมั่น วินัยของนักเขียน คุณต้องรักษาสัญญา เมื่อคุณทำผลงานออกไปแล้ว ถ้ามีคนเริ่มติดตามมันก็เหมือนเป็นสัญญาใจที่คุณต้องแต่งให้จบ แต่งแล้วไม่หนีหายหรือทิ้งต้นฉบับไปมันไม่ใช่แค่รักษาสัญญากับผู้อ่านอย่างเดียว แต่มันคือวินัยที่ตัวคุณจะต้องรักษากับตัวเองด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่คุณล้มเลิกหรือยอมแพ้ คุณก็ไม่เข้าใกล้ความสำเร็จที่คุณคาดหวัง

ส่วนเรื่องความสำเร็จ การตีความความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณตีความการประสบความสำเร็จของคุณไว้ว่าอย่างไร เพราะนักเขียนแต่ละคนก็จะมีมุมมองความสำเร็จที่แตกต่างกัน คุณจะต้องถามตัวเองก่อนว่าคุณอยากประสบความสำเร็จในแบบไหน เป็นที่ยอมรับ ผลงานมีชื่อเสียง ยอดแฟนคลับ หรือเงิน เพราะว่าถ้าเกิดว่าอยากที่จะประสบความสำเร็จได้มากขึ้นมันก็จะเป็นเรื่องของคุณเองเหมือนกันที่จะผลักดันพาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดที่มันจะถูกรายล้อมด้วยองค์ประกอบที่จะทำให้คุณสำเร็จและไปต่อได้

 นักเขียนต้องมีความมุ่งมั่น รักษาสัญญา แล้วจึงค่อยเกิดความสำเร็จ”

ทิ้งท้าย…ถ้านักเขียนสนใจอยากร่วมงานกับสำนักพิมพ์พูนิก้า เริ่มต้นจากตรงไหนได้บ้าง

สำหรับสำนักพิมพ์พูนิก้าจะมีการทำงานอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือที่ร่วมงานกันโดยร่วมมือกับนักเขียนเดิมที่เริ่มกันมาตั้งแต่ต้น ก็จะเป็นโปรเจ็กต์ยาวอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว และอีกส่วนจะมีแบบที่เป็นการทดลองของนักเขียนเดิมของสำนักพิมพ์หรือนักเขียนใหม่ๆ  ที่อยากจะนำเสนอต้นฉบับมาที่สำนักพิมพ์ อาจมาลองพัฒนาเป็นนิยายที่ลงเป็นตอนสั้นๆ เพื่อที่จะลงชิมลางก่อน สำหรับคนที่จะนำเสนอผลงานเข้ามาให้เราพิจารณาถ้าเกิดว่าเป็นเรื่องยาวแบบ 1 เล่มจบ เราก็จะขอให้ส่งเรื่องย่อกับส่งพล็อตที่น่าสนใจมาให้อ่านหน่อย ประมาณ 1-2 หน้ากระดาษ A4 และจะขอให้เป็นเรื่องย่อที่มีแบบการนำเสนอวรรคทองที่มันน่าสนใจ ที่เป็น Best Short ของเรื่อง หรือก็คือจุดที่ทำให้เรารู้สึกอยากอ่านต่อ เราจะอ่านจากเรื่องย่อที่ส่งมาและก็อาจจะสุ่มอ่านช่วงกลางเรื่องเพราะว่าเราอยากรู้วิธีกระบวนการการคิด วิธีการเขียนของนักเขียน เพราะว่าบางที่มันอาจจะมีส่วนที่น่าสนใจคือไม่ได้ปัดตกไปเลย สามารถที่จะร่วมกันปรับจูนร่วมกันพัฒนาปรับปรุงต่อไปได้ค่ะ

 
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับนักเขียนนิยายเมื่อได้ลองอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณเนแล้วพอจะได้ประโยชน์อะไรมาปรับใช้กับงานของตัวเอง หรือได้แรงบันดาลใจในการฝึกฝนปฏิบัติกันบ้างไหมคะ หากสนใจการเข้าใจวิธีคิดและเครื่องมือแบบมืออาชีพ เรามีเครื่องมือให้ทุกคนได้ลองใช้ฟรี 2 โปรเจ็กต์เพียงแค่ Sign-Up ผ่านช่องทางนี้ค่ะ Storybowl.co/Tools โดยในเครื่องมือจะมี VDO ช่วยอธิบายการใช้งานง่ายๆ ให้ดูด้วยค่ะ หากชื่นชอบบทความดีๆ แบบนี้ ฝากกดแชร์เพื่อแบ่งปันความรู้ให้เพื่อนๆ ด้วยนะคะ

สัมภาษณ์โดย ทีมงาน Story BOWL

เรียบเรียงโดย พรหมพร สุวรรณโมลี

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *