หลายคนที่เป็นมือใหม่ทำหนัง มักจะเริ่มต้นไม่ค่อยถูกว่าจะทำอะไรก่อนอะไรหลังดี ไม่เป็นไรครับ วันนี้เรามีสิ่งนี้มาฝาก “11 ขั้นตอนทำหนังสั้นฉบับมือใหม่” ลองมาดูกันว่าในแบบ เราจะทำหนังสั้นซักเรื่องจะต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้างครับ
1 หาเรื่อง
หาเรื่องคืออะไร ที่แน่ๆไม่ใช่ไปท้าตีท้าต่อยกับใครแน่ๆ ..
ในการทำหนังเราจำเป็นต้องมีเรื่องนะครับ การหาเรื่องคือการไปหาเรื่องที่เราอยากจะทำ ไม่ว่าจะจากแหล่งไหนก็ตาม หรือจะคิดเองก็ได้ หรือจะได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรซักอย่างก็ได้ครับ เอามันมาสร้างให้เป็นเรื่อง
แต่ แต่ แต่ ถ้าเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วแล้วเราจะเอามาดัดแปลง อันนี้อาจจะต้องขอเค้าก่อนนะครับ อาจจะได้มาฟรีๆหรืออาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย หรืออาจจะต้องมีเงื่อนไขอื่นๆก็ได้นะครับ
tips : เนื่องจากหนังคือการเล่าเรื่องด้วยภาพ เราน่าจะต้องหาเรื่องที่เหมาะสมกับวิธีการนำเสนอแบบนี้มาด้วยนะครับ เรื่องที่เหมาะเป็นหนัง คือเรื่องที่สามารถเล่าเป็นภาพได้ มีสถานการณ์ มีแอคชั่น ไม่ใช่ทั้งเรื่องอยู่แต่ในมโนสำนึกอันนี้ก็จะเป็นการเล่นท่ายากไปหน่อยสำหรับมือใหม่ครับ
2. ทำเรื่องให้กลายเป็นบท
เมื่อเราได้ไอเดียเรื่องมาแล้ว เราก็ต้องเอามาทำเป็นบทภาพยนตร์กันครับ ส่วนนี้จริงๆแอบมีหลายขั้นตอน กว่าจะเป็นบทหนังซักเรื่องครับ
เริ่มตั้งแต่ ทำ Theme ทำ Logline ทำ Treatment ถึงจะกลายมาเป็นบทภาพยนตร์ที่เราเรียกกันว่า screenplay ครับผม
บทนี้คือต้องมีการแบ่งฉาก อธิบายสถานการณ์ อธิบายแอคชั่น และมีบทสนทนาเรียบร้อยแล้วนะครับ
3. หาทีมงาน
แน่นอนครับ เป็นเรื่องยากที่จะทำหนังคนเดียว แต่เราเป็นคนเริ่มมาแล้วนี่ครับ ยังไงก็คงต้องตามหาพันธมิตรแห่งแหวน นึกถึงใครไม่ออกก็ เอาพ่อ เอาแม่ เอาเพื่อน เอาญาติๆนี่ล่ะครับมาทำ ตำแหน่งหลักๆในหนังสั้นที่อย่างน้อยๆควรจะต้องมีนะครับ คือ (จริงๆกองถ่ายต้องใช้คนเยอะมากนะครับ แต่สำหรับหนังสั้น ผมว่าหดลงมาประมาณนี้ก็พอ)
1.ผู้กำกับ ก็เอาไว้กำกับล่ะครับ เป็นกัปตันฝ่ายการนำเสนอ
2. โปรดิวเซอร์ หรือผู้จัดการกอง มีเถอะครับ เอาไว้ดูแลเรื่องเงิน เรื่องการติดต่อ หาข้าวหาน้ำ ผู้กำกับอย่าไปทำเองเลยครับ ไม่มีเวลาหรอกครับ
3. ผู้ช่วยผู้กำกับ มีไว้สำหรับรันกองถ่ายครับ จัดการในการเตรียมการ เตรียมซีนถัดไป ตรวจของเบื้องต้น ตำแหน่งนี้มือใหม่แทบไม่เคยรู้ว่าต้องมีครับ เดี๋ยวเราจะมาว่าด้วยเรื่องตำแหน่งนี้อย่างจริงจังอีกครั้งใจบทความนะครับ
4.ช่างภาพ หรือ ผู้กำกับภาพ ก็คนถ่ายนั่นแหละครับ หาเพื่อนที่ถ่ายภาพสวยๆพอช่วยได้ มีลูกมืออีกซักคนสองคนจะดีมากครับ อย่าให้เหนื่อยแล้วมีผลกับภาพ หากอัดเสียงแยกก็จัดมาอีกซักคนนะครับผม
5. อาร์ต ไดเรกเตอร์ หรือ โปรดักชั่นดีไซน์ คนนี้เอามาดูแลส่วนพร๊อบและเซ็ทครับ อะไรเกี่ยวกับศิลปะให้เขาทำเถอะครับผม
จริงๆแล้ว ประมาณนี้ก็เหมือนจะพอแล้วในเบื้องต้น แต่ถ้ามีคอนทินิว หรือสคริปท์ซูปเปอร์ไวซ์เซอร์อีกซักคนจะอุ่นใจครับ เอาไว้ดูความต่อเนื่องทั้งหลายแหล่ในหนัง จะได้ไม่หลงไม่ลืม ส่วนเรื่องคอสตูม เมคอัพอันนี้แล้วแต่เลยครับ จะให้นักแสดงหยิบมาเองจำเอง หรือจะมีเพื่อช่วยให้ราบลื่นนี่ก็ดีครับผม
Tips นิดนึง การทำงานหนัง คำว่าสามัคคีในงานนี้ไม่ได้แปลว่ารุมกันทำทั้งหมดนะครับ แต่แปลว่า แบ่งงานกันตามส่วนรับผิดชอบโดยที่เห็นเป้าหมายเดียวกันครับ ให้เกียรติกัน จะได้ไม่ทะเลาะกันครับ
4.เตรียมงานเอกสารการถ่ายทำ
อันนี้เป็นเบื้องต้นนะครับ เราเคยคุยเรื่องนี้กันไปแล้วในโพสต์เก่าๆลองรูดๆลงไปดูนะครับผม
คือต้องเอาบทมาแตกเป็นเบรกดาวน์ เป็นซีนลิสต์ เซ็ทลิสต์ แคสลิสต์ พร็อบลิสต์ เพื่อที่จะเราจะได้รู้ครับว่าต้องใช้อะไรบ้าง ต้องหาอะไรบ้าง
วางตารางคร่าวเป็นตุ๊กตาไว้ก่อน เพราะเวลาไปติดต่อสถานที่หรือนักแสดง เค๊าจะอยากรู้ครับว่าเบื้องต้นถ่ายวันไหน เราเอาสะดวกเราก่อนเลย ถ้าไม่ได้ค่อยปรับแก้กันครับผม
อ้อ ส่วนนี้เป็นการสายตรงของผู้ช่วยและผู้จัดการกองหรือโปรดิวเซอร์นะครับ
ช่วงนี้ถ้าผู้กำกับภาพเห็นบทแล้วจะลองร่างไอเดียเล่นๆกันกับโปรดักชั่นดีไซน์ก็ได้นะครับ เพื่อให้ภาพชัดขึ้น หรือเขียนเป็นบอร์ดออกมาก็ชัดดีจะได้รู้ว่าเราต้องการฉากแบบไหนอย่างไร (แต่บอร์ดอาจจะต้องปรับหลังจากไป block shot มาแล้วครับ)
เออ แล้วอย่าลืมเตรียมเรื่องงบประมาณนะครับ อย่างน้อยก็ควรจะมีค่าข้าวนะ ถึงแม้ทุกคนจะมาด้วยใจก็เถอะครับ
5. หานักแสดงและสถานที่ถ่ายทำ
ส่วนนักแสดงถ้ามีเงินก็จะจัด แคสติ้ง โดยให้โมเดลลิ่งส่งมากันครับ ถ้าไม่มีก็ออกไปควานๆหาเอา แนะนำตามโรงเรียน ชมรมการแสดง หรืออาจจะไปหาจากกรุ๊ปนักแสดงต่างๆจาก Fb ก็ได้ครับ ข้อสำคัญนะครับ อย่ารับปากโดยที่ทำไม่ได้ ทุกอย่างให้ทำตามจริงตามข้อตกลงนะครับ มีเงินน้อย มีเงินมาก หรือขอช่วยฟรี ก็บอกไปตามจริงครับ จะได้ไม่มีปัญหาทีหลัง แล้วก็พยายามหาให้ตรงตามบทครับ เจอมาหลายครั้งทุกอย่างดีหมด แต่เอาเพื่อนมาเล่นเป็นพ่อนี่ทำลายหนังตัวเองเลยนะครับ
ส่วนเรื่องสถานที่ ก็ดูที่ที่หน้าตาได้ และต้องคำนึงถึงการทำงานด้วยนะครับ มีที่วางกล้อง วางไฟ มีที่แต่งหน้า มีห้องน้ำห้องท่า เหมือนกันกับนักแสดงครับ ต้องการอะไร มีเท่าไหร่ บอกเจ้าของสถานที่เขาไปตรงๆครับ จะได้ไม่มีปัญหาที่หลัง
ส่วนแคสติ้งนี่ ผู้กำกับกับผู้ช่วยจะช่วยกันดูนะครับ ถ้าชอบแล้วให้โปรดิวซ์เซอร์เจรจาต่อครับ
ส่วนเรื่องสถานที่ ให้โปรดิวเซอร์ หรือผู้จัดการกอง ไปกับอาร์ตไดเรกเตอร์ และผู้กำกับภาพครับ แล้วค่อยเอากลับมาขายเอามาถกกันกับผู้กำกับอีกที
6. ประชุมแผนเพื่อวางตารางการถ่ายทำ
เมื่อเห็นนักแสดง สถานที่แล้ว ติดต่อเจรจาแล้ว เราจะมาวางตารางการถ่ายทำจริงๆกันครับ ใส่ทุกวันที่ต้องมีการประชุม การนัดหมายทุกอย่างลงบนปฏิทิน เช็คใครว่างใครไม่ว่าง ดูว่าวันไหนต้องทำอะไร ไม่ใช่เฉพาะวันถ่ายทำนะครับ วัน block shot วัน workshop หรือ ประชุมสรุป วัน set วันหาของ ใส่ให้หมดครับ ขั้นตอนนี้เราอาจจะวางตุ๊กตาคร่าวๆของเบรกวันถ่ายเอาไว้ก่อนว่าวันไหนถ่ายอะไรบ้าง ใช้กี่วันครับ
7. WORKSHOP การแสดง
สำคัญนะครับ จริงๆวันนี้ในการเล็กๆเราจะรวมการ fitting ด้วย เดี๋ยวมาดูกันทีละเรื่องครับ
การ workshop จริงๆก็คือซ้อมล่ะครับ ถ้าเป็นไปได้มีเวลา ก็เริ่มจาก read trough เลย (คือการอ่านบท แล้วจับเวลาครับ อ่านและตีความไปพร้อมๆกัน) จากนั้นก็ลองคุยกับนักแสดงว่าเขาคิดว่าอย่างไรบ้าง แล้วก็ซ้อมครับ ซ้อมเป็นฉากๆไปเลย ซ้อมแห้งนอกสถานที่นี่ล่ะครับ ผู้กำกับจะได้เห็นอะไรเยอะๆจากกระบวนการนี้ เอาคนอื่นๆมาดูด้วยก็ได้ครับ เพราะว่าจะได้เห็นไอเดียกับงานส่วนอื่น หากมีเงินหน่อยส่วนนี้เราจะจ้างแอคติ้งโค้ช มาช่วยดูส่วนนี้ครับ ไม่มีก็ต้องพยายามทำตามที่บอกไว้ด้วยตัวเอง ยังไงก็ดีกว่าไม่ทำครับ
ส่วน fitting คือ ให้นักแสดงมาสวมชุดทุกชุดที่จะใช้ถ่ายทำครับ เพื่อให้เห็นว่ามันโอเคมั๊ย ถ้ามีฝ่ายเสื้อผ้าเขาก็จะหามาให้ลองเพื่อดูว่าพอดีมั๊ย หรือถ้าใช้ชุดเขาเองก็จะได้รู้ว่าสีสันได้มั๊ย ทำเสร็จแล้วให้ผู้จัดการกองหรือฝ่ายเสื้อผ้าเก็บชุดเขาไว้กับตัวเลยครับ นักแสดงจะได้มาสบายๆวันถ่าย แล้วก็หมดปัญหาเรื่องนักแสดงลืมชุดครับ
8. Block shot
หลังจากที่เราได้สถานที่ถ่ายทำมาแล้ว ผู้กำกับ ผู้ช่วย อาร์ตไดเรกเตอร์ ผู้กำกับภาพ โปรดิวเซอร์ (เรียกว่าเกือบทั้งหมดนั่นล่ะครับ) ควรจะไปดูสถานที่จริง และกำหนดกันว่าตรงไหนจะถ่ายอะไร อย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง ลำดับถ่ายควรเป็นอย่างไร ต้องรื้ออะไร สร้างอะไรเพิ่ม พระอาทิตย์ขึ้นทางไหน ตกทางไหน (ไว้เดี๋ยวอธิบายละเอียดอีกทีครับ)
ส่วนฟากโปรดิวเซอร์หรือผู้จัดการกองก็ต้องดูว่า จะใช้สถานที่นี้อย่างไร ถ่ายตรงไหนบ้าง รถจอดตรงไหนได้ กินข้าวตรงไหนดี แต่งหน้าเปลี่ยนเสื้อผ้ากันตรงไหนอย่างไร เจรจากับเจ้าของสถานที่ว่าตรงไหนจะทำอะไรตอนไหน เขาจะได้รู้ด้วย รวมไปถึง ร้านข้าวที่ใกล้ที่สุด ลองไปเจรจาดูเลยก็ได้ครับ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอยู่ตรงไหน สถานีตำรวจก็ต้องดูด้วยครับ เผื่อวันนั้นเกิดอะไรขึ้น เวลาถ่ายหนังผีนี่ดูยันวัดครับ ว่าใกล้วัดอะไร เผื่อฉุกเฉินต้องไล่ผีกันกลางกองจะได้ไปถูกครับ
9. เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น
อันนี้ก่อนวันออกกองครับ ตรวจเช็คของทุกอย่างของทุกฝ่ายจริงๆว่าพร้อมมากน้อยแค่ไหน
ฝ่ายงานภาพก็เช็ค กล้อง การ์ด เลนส์ ไมค์ คอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์สำหรับโหลดให้พร้อม และพอเพียง เช็คไฟว่าแบตเต็มมั๊ย หลอดขาดรึเปล่า วันจริงไม่ควรลืม และไม่ควรเกิดปัญหาจากการไม่เช็คครับ
ฝ่ายอุปกรณ์ก็ดูว่าของที่ต้องเตรียมสำหรับเข้าฉากพร้อมมั๊ย ครบทุกสิ่งเพื่อการเซ็ท ทั้งพร็อพหลัก พร๊อพเผื่อ แฮนด์พร็อพ
ออกเอกสารสำหรับวันถ่ายทำ ทั้งเบรกถ่าย สตอรี่บอร์ด ชู๊ตติ้งบอร์ด คอลชีต ไซด์สคริปท์ คอนเฟิร์มคิวนักแสดง ทีมงาน ร้านอาหาร สถานที่ รถตู้(ถ้ามี) ทุกอย่างเอาให้พร้อมครับ ถ้าเหมาดูแลเสื้อผ้าไปด้วยก็เช็คให้ครบครับผม อ้อ เช็คเวลาพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก และสภาพอากาศวันนั้นด้วยนะครับ แนวโน๊มไม่ดีได้สั่งยกกองทัน
10. วันออกกอง
ถ้าไอ้ที่พูดมาทั้งหมดก่อนหน้านี้เราทำมาดี ที่เหลือวันถ่ายคือทำตามแผนครับ
วันนี้ผู้ช่วยจะเป็นคนรันกองถ่าย คอยจัดลำดับ หากมีปัญหาเกิดขึ้นเขาจะเป็นคนสลับแผนการถ่ายตามความเหมาะสม
เช้ามาอย่าลืมเช็คทุกอย่างอีกรอบ มีปัญหาอะไรให้บอกผู้ช่วยทันทีครับ
แล้วก็อย่าลืมตั้งค่ากล้องตามที่คิดว่าจะใช้ไฟล์แบบไหนอย่างไรนะครับ จะ 24 25 หรือ 30 เฟรม จะเป็นฟอร์แมทไหนก็เลือกดีดี เพราะจากนี้ไปต้องเหมือนเดิมตลอดนะครับ ตั้ง Metadata ด้วยก็ดีครับ เวลาเอาไปตัดจะได้ง่าย
แล้วก็ถ่ายไปตามแผนที่วางไว้ แนะนำให้เริ่มจากข้างนอกเข้าไปหาข้างใน หรือดูตามทิศทางแสงก็ได้
ถ่ายเสร็จแต่ละซีนก็อย่าลืมอัดเสียงบรรยากาศกลับมาด้วยนะครับ เป็นสิ่งนึงที่ทุกคนชอบลืมกันครับ
เสร็จทันเวลาก็เลิกกองปกติ ไม่ทันโปรดิวเซอร์หรือผู้จัดการกองก็ต้องเจรจากับทุกคนว่าจะลากต่อ หรือจะไปถ่ายวันอื่นเพิ่มเติมก็ต้องตัดสินใจกัน
โหลดการ์ดเสร็จก็เป็นอันเลิก แยกย้ายกันกลับบ้านครับ
11. ลำดับภาพ
จริงๆคืองานโพสต์ทั้งหมดล่ะครับ แต่ในหนังสั้นแบบทรัพยากรน้อย โดยมากที่เห็นผู้กำกับมักดูแลเอง
ก็ให้เป็น tips สั้นๆไว้แล้วกันครับ
เช็คฟุตทั้งหมด ทำการซิงค์เสียง ตั้งโปรเจ็คท์ให้ถูกต้อง จัดการจัดโฟลเดอร์ให้ดีอย่าให้งงครับ จากนั้นก็ตัดหยาบหรือราฟท์คัทครับ คือตัดเรียงเรื่องไปทั้งเรื่อง ยังไม่ต้องละเอียดครับ จากนั้นก็มาดูกันว่าอะไรขาดอะไรเกิน จะลองสลับอะไรมั๊ย
หลังจากที่สลับไปมาจนพอใจแล้ว ก็มาต่อกันที่การตัดละเอียดจนได้ออกมาเป็น ไฟน์คัท
จากนั้นเราก็จะเริ่มทำเสียง หรือ CG ใดๆกันต่อไป
เสียงที่แย่เราอาจจะอัดใหม่ วางเสียงบรรยากาศ และอัดเสียงประกอบ (Foley)
ส่วนดนตรีประกอบ ถ้าเบี้ยน้อยหอยน้อย ทำเองก็ไม่เป็น ไม่มีเพื่อนเล่นดนตรี ก็หาโหลดเอาครับ แต่อย่าลืมทำตามเงื่อนไขของแต่ละที่ที่โหลดมาด้วยนะครับ
แล้วก็เอาเสียงทั้งหมดมามิกซ์กัน ตอนจะมิกซ์ให้แยกแต่ละก้อนให้ดีนะครับ ไหนเป็นเสียงบทพูด อันไหนคือดนตรี อันไหนคือเอฟเฟ็คท์
แล้วก็ใส่เครดิต ไตเติ้ล เอนท์เครดิตอะไรให้เรียบร้อยก็เป็นอันเสร็จครับ
จากนั้นก็ export ตัวต้นฉบับออกมาก่อน อันนี้ให้แยกเสียงออกมาเป็นแทร็คๆด้วย หลักๆควรจะต้องมี Dialouge / ambiean / Music / Sound effect / Foley เผื่อหนังเราต้องแก้ไขจะได้แก้ง่ายครับ
สุดท้ายก็ Export เวอร์ชั่นที่จะใช้ออกมา
————————————
จบแล้วครับทำหนังหนึ่งเรื่อง หวังว่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับผม
ขอให้สนุกกับการทำหนังครับ