มาทำความรู้จัก “นุ้ย-นฤพนธ์” Visual Effects Artist กับการใช้เครื่องมือ Story TOOLS สานฝันสู่การเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

เคยประสบปัญหาเหล่านี้หรือไม่ นอนๆ อยู่ไอเดียก็ผุดขึ้นมาตอนตีสามจดไว้แต่ดันไปต่อไม่ได้ อยากให้ตัวละครทำอย่างนั้น อย่างนี้แต่ดันไม่มีเหตุผลมาสนับสนุนให้สมจริง หัวตัน ไม่เจอทางออกที่ลงตัว ดังนั้นหากเรามีเครื่องมือดี ๆ มาเป็นเพื่อนคู่คิด ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป!

วันนี้เราจะพาไปรู้จัก คุณนุ้ย นฤพนธ์ พันธุ์ไพโรจน์ นักทำ CG Visual Effect หนังโฆษณา และยังทำหนังสั้น Animation และ Live Action ผู้ใช้งาน Story Tools ช่วยในการทำซีรีส์

ก้าวเข้ามาในวงการทำหนังได้อย่างไร

เกริ่นก่อนว่าเราเรียนจบดุริยางคศิลป์ เคยเล่นดนตรีออร์เคสตรามาก่อนจึงเริ่มต้นสายอาชีพด้วยการไปงานที่แกรมมี่สมัยที่ Ringtone ยังรุ่งเรือง จากนั้นก็ออกมาเป็นครูสอนดนตรีระดับประถม และเป็น อ.พิเศษด้านดนตรีตามโรงเรียนต่างๆ  แต่จุดเริ่มต้นของการทำหนังจริงๆ มันเริ่มจากเราแอบชอบเพื่อนคนนึงที่นิเทศฯ เลยตามไปเรียนที่คณะ แล้วก็เลยได้ทำหนังด้วยกัน เรามีทักษะด้านการวาดรูป เพราะเคยเขียนการ์ตูนส่งสำนักพิมพ์มาตั้งแต่มัธยมปลาย จึงนำทักษะการเขียน Story Board ไปใช้ช่วยในการทำหนังด้วย จากนั้นก็ทำหนังสั้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งตัดสินใจออกจากการเป็นครูสอนดนตรี และเข้าไปทำงานที่ Matching Studio ในส่วนงาน Post Production เราทำ CG Visual Effect ให้กับหนังโฆษณาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน

         ระหว่างนั้นเราก็ทำหนังสั้นควบคู่ไปด้วย ทั้ง Animation และ Live Action ทำส่งประกวดเกือบทุกปี เลยได้มีอากาสไปทำ Visual Effect ที่สิงคโปร์และจีน เราเป็นคนชอบหาความรู้เสริมทักษะให้ตัวเอง จึงไปลงเรียนเขียนบท ไปอบรมด้านการทำหนัง ทำภาพยนตร์ เรียกว่าที่ไหนมีเปิดสอนเราก็ไปลงเรียน แล้วก็อะไรที่มีเกี่ยวกับรายการประกวดต่าง ๆ เราก็ไปศึกษาเพราะเราชอบการเล่าเรื่องผ่านสื่อภาพเคลื่อนไหว จนได้มาเจอคอร์สสอนเขียนบทของพี่เมษ ตอนนั้นยังเป็น MovieDIY รู้สึกสนใจจึงตัดสินใจสมัครเรียน

เก็บสะสมความรู้มาบ้าง แต่ก็ยังติดปัญหาในการทำงาน

   ก่อนหน้าเราคิดงานแบบมวยวัด เราเรียนมาบ้างแล้ว ได้แนวคิดในส่วนของวิธีทำ ว่าทำอะไรยังไง แต่จะไม่ได้ในส่วนของวิธีคิดที่เจาะลึกถึงแก่น จนกระทั่งมาเจอกับหลักสูตรของพี่เมษ

ได้ปลดล็อคปัญหาตรงจุดไหนได้บ้าง

ที่พี่เมษสอนตั้งแต่ MovieDIY จนกระทั่ง Story BOWL เป็นการสอนแบบเฉพาะทางมากจริงๆ ช่วยเสริมด้านการคิดที่เป็นจุดอ่อนของเราให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็เราก็ทำให้เรารู้ว่าจะต้องคิดยังไง ไปต่อในทางไหน ทำให้คิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ทำให้สามารถเรียงลำดับไอเดียไม่ให้กระจัดกระจาย ไกด์ไลน์ให้ไม่ออกทะเล และได้องค์ประกอบครบ เวลาที่คิดฟุ้งไปเรื่อย เรื่องก็หาเหตุผลไม่ได้ สุดท้ายก็คิดอะไรไม่ออก สมองตัน เราก็จะใช้เครื่องมือมาช่วยคิดหาทางออกให้ ใช้ Idea Hive เพื่อนช่วยให้มองเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้น พอคิดได้แล้วก็สนุกดี

ยกตัวอย่างเช่น เราจะทำ Idea Hive บนกระดาน เนื้อเรื่องอยู่ตรงกลางแล้วกระจายไปสู่ Multiverse ความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด แปะไอเดียบนผนังห้อง มี Story Card ว่าเริ่มตรงไหน ไปต่อยังไง มี Falling down แล้วไป Climax ยังไง จนถึงตอนจบเป็นยังไง การทำงานมันต้องใช้ตัวช่วยเยอะ มันต้องเอาสิ่งที่อยู่ในสมองออกมา เพราะบางทีมันมาแว๊บเดียวแล้วก็หายไป มันก็ต้องรีบจดเอาไว้ หรือทำให้มันเป็นรูปธรรมมากที่สุด

อีกอย่างเวลามีปัญหา เราจะมีกลุ่มใน Facebook เป็นกลุ่มเขียนบทจริงจัง ในนั้นจะมีโพสต์พี่เมษอยู่ เราจะบอกพี่เมษตลอดเลยว่าอย่าลบโพสต์นะ เราจะเข้าไปดู เพราะบางทีเราลืมในเรื่องของการคิด Theme การทำ Treatment หรือการหาไอเดีย หรือ Premise ต่างๆ เราก็จะวนกลับมาทบทวนอยู่เสมอ เหมือนการเรียนดนตรี นักดนตรีต้องมีการไล่สเกล ต้องมีการฝึกเบสิค ต้องมีการวอร์มอัปทุกครั้งก่อนจะเล่นดนตรี การคิดเรื่องก็เหมือนกัน เพราะบางทีเราลืมหลักอะไรบางอย่างไป เราต้องกลับมาวอร์มอัป Core Idea ของเรา รวมถึงจุดกำเนิดก้านไอเดียของเราให้คิดไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ฟุ้งไปเรื่อย คิดให้มีหลักการ เป็นศิษย์มีครู ไม่ได้แบบมวยวัดตลอด

ให้พูดถึงพี่เมษ-ผู้สอนสักนิด

พี่เมษเป็นครูที่มีความอดทน อธิบายในสิ่งที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ให้คำแนะนำได้ดี เป็นผู้สอนที่มีประสบการณ์ มีความคิดแบบเป็นขั้นตอน ก็อยากจะขอบคุณพี่เมษที่เปิดคอร์สแบบนี้มา หลายๆ คนที่เขียนบทก็ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ เราก็ไม่รู้จักเลยว่าเขาเขียนยังไง มีทีมสตอรี่ยังไง แต่คอร์สพี่เมษนี่เหมือนเปิดโอกาสให้คนนอกอย่างเราได้เข้ามารู้จักคนวงในมากขึ้น ได้รู้ว่านักเขียน นักพัฒนาเนื้อเรื่องทำกันยังไง แล้วก็มีลำดับขั้นตอนเป็นยังไง ได้รู้วิธีคิด และพี่เมษก็มาแบ่งปันความรู้ของตัวเองโดยที่ไม่หวงวิชา ทำให้เราและหลายๆ คนได้ประโยชน์จากตรงนี้

คุณนุ้ยได้นำเครื่องมือไปปรับใช้กับอะไรบ้าง

ได้นำเอาเครื่องมือมาปรับใช้กับหนังสั้น และ Animation บางส่วน พอปล่อยผลงานออกไปก็ได้รับเสียงตอบรับดีมาก ได้ฉายในงานเทศกาลต่างประเทศด้วย อย่างแอนนิเมชัน 3D เรื่อง “FLYWORM” ก็ได้ฉายในเทศกาลหนังสั้นที่บาหลี และเกือบจะได้ฉายในโรงภาพยนตร์ในไทยแต่ติดปัญหาโควิด เลยเอาเรื่องนี้ไปคุยกับกสทช. แล้วได้งบมาทำเป็นซีรีย์แบบการ์ตูน 2D แทน ทำไปทั้งหมด 40 ตอนลงช่องวัน 31 โดยเราเป็นผู้กำกับเอง

อีกงานคือใช้กับภาพยนตร์ที่ตอนแรกทำเป็นทีเซอร์อยู่ บอกก่อนว่าการทำหนังฉายที่โรงภาพยนตร์เป็นความฝันมานานแล้ว จริงๆ แล้วมันไกลจากสิ่งที่เราทำมากนะ แต่ว่าเรามีความฝันเราก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่รู้หรอกว่ามันจะไปถึงได้ยังไง จนกระทั่งเราทำทีเซอร์เรื่อง ท่าเตียน ปล่อยทางโซเชียลแล้วก็ถูกแชร์ไปหลักพันจาก Facebook ส่วนตัว ซึ่งตอนนั้นเราก็ดีใจมากแล้ว แต่ที่ดีใจกว่านั้นคือมันไปเตะตาของคนในค่ายหนังเข้า เขาสนใจเราเลยได้เข้าไปคุย และได้มีโอกาสคุยร่วมกับโปรดิวเซอร์ระดับเอเชียที่ทำหนังรางวัลออสก้าด้วย ซึ่งน่าตื่นเต้นมาก เขาอยากผลักดันโปรเจคนี้ ถึงวันนี้ (11 พ.ค.2565) ก็ยังคุยอัปเดตกันอยู่ แล้วเราก็ได้ใช้เครื่องมือ Story Tool ในการพัฒนาเนื้อเรื่องนี้ด้วย เพราะว่าจำนวนทุนที่ได้มาเรียกว่าจำนวนนึง ทำให้เราอยากได้ความเป็นไปได้ของเนื้อเรื่องที่เยอะที่สุด ถึงวันนี้จะยังไม่มีการเซ็นสัญญา ยังเป็นการคุย เข้าไปประชุมกับค่ายหาแนวทางร่วมกัน มีความเป็นไปได้ที่ 80% เราก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ แต่ว่าด้วยเนื้อเรื่อง ด้วยไอเดีย ทั้งหมดมันก็พาเรามาถึงจุดที่เราไม่คิดว่าจะมาถึง จากคนนอกสุดๆ เลย ได้เข้ามานั่งคุยกับค่าย มีคนที่เป็นไอดอลเรามานั่งคุยกับเรา เท่านี้ก็รู้สึกภูมิใจมากเลย

อนาคตเราก็ยังอยากเป็น Creator ที่ต่อยอดต่อไป ไม่ว่าจะเป็น Webtoon  Animation ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ อะไรก็แล้วแต่ ยังอยากจะทำอย่างที่ตั้งใจไว้ ขอบคุณ Story BOWL ที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มีกำลังใจ มีเครื่องมือที่เหมือนมีคนคอยเตือนอยู่ข้างๆ ว่า เฮ้ย ทำแบบนี้สิ อย่าออกนอกลู่นอกทางนะ ตบๆ เข้ามา ทำนั่นสิ ทำอันนี้ด้วยเกิดเป็น Premise ใหม่ขึ้นมา มันเจ๋งมาก เหมือนมีเพื่อนที่อยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมงแบบนี้

คำจำกัดความของ “ความสำเร็จ” ของตัวเองคืออะไร?

ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้เล่าในสิ่งที่อยากเล่า และได้เห็น Reaction ของคนดูว่าชอบหรือไม่ชอบกับสิ่งนั้น เราได้สื่อสารไอเดียของเราออกไป แล้วได้เห็นงานที่เราปั้นมา ไปถึงจุดที่มันไปหาคนดูได้ เราก็มองเป็นความสำเร็จแล้ว และความสำเร็จที่สุดเลยก็คือสามารถทำเงินจากสิ่งที่ชอบได้ สามารถอยู่ได้ด้วยสิ่งที่เรารัก

สามารถใช้ทักษะหลากหลายที่มีสร้างโอกาสให้ตัวเอง เราทำ Animation ได้ ทำ Visual Effect ได้ ตัดต่อได้ ทำเพลงได้ เล่นดนตรีเพื่อเอามาใส่ในหนังได้ ทักษะทุกอย่างนี้มันถูกผูกมาเพื่อทำหนัง เราเชื่ออย่างนั้น ทุกอย่างมันเป็นการเก็บเกี่ยวจุดเล็กๆ ในชีวิตเพื่อมาต่อจุดสุดท้ายก็คือ การเล่าเรื่อง ผมถือว่านี่เป็นจุดๆ นึงในชีวิตของผมที่อยากจะทำมันออกมาให้โลกได้เห็น

อีกอย่างเราจะแปะโปสเตอร์หนังสั้นที่ทำเอาไว้ที่ผนังเป็นแรงบันดาลใจ ว่าเราทำมากี่เรื่องแล้ว เรานับทุกความสำเร็จเล็กๆ เป็นความสำเร็จของเราหมดเลย ทำให้เรามีกำลังใจว่าเราทำงานอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่เพื่อเงินอย่างเดียว แต่เมื่อวันนึงเราจากไปสิ่งที่เราทำไว้มันยังอยู่และเป็นที่จดจำ

มีคำแนะนำอะไรที่อยากฝากถึงคนที่ชื่นชอบการทำหนังและอยากจะก้าวเข้ามาในวงการนี้

เราไม่มั่นใจว่าจะแนะนำอะไรได้นะ เพราะบางครั้งความพยายามมันก็ไม่พอครับ มันอยู่ที่โอกาสด้วย อย่างเราก็ถือได้ว่าพยายามมาตลอดที่อยากจะเป็นผู้กำกับ เรียกว่าพยายามมาหลายปี ทำ Animation มาหลายปี ไม่ว่าหลังบ้านเราจะพยายามแค่ไหน แต่ถ้าหน้าบ้านเราไม่เปิด ไม่ปล่อยผลงานเพื่อแสดงแนวคิดของเราออกไป แสดงทัศนะของเราออกไปให้โลกได้เห็น ว่าเราคิดสิ่งนี้อยู่หรือเราทำอะไรอยู่ คนก็จะไม่มาพบเจอเรา ยุคนี้มันเป็นยุคที่เพียบพร้อม เราสามารถที่จะใช้สมาร์ทโฟนทำหนังได้เลย แค่ลองทำออกไปแล้วก็เรียนรู้ไปกับความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น และความผิดพลาดนั้นก็จะทำให้เราเก่งขึ้น สุดท้ายสิ่งที่เราทำมันจะดึงดูดคนที่ใช่เข้ามาหาเรา คนที่เชื่อในไอเดียของเรา แต่เราก็ต้องบาลานซ์การใช้ชีวิตกับการทำสิ่งที่รักด้วย ซึ่งความสม่ำเสมอและการทำไปเรื่อยๆ แม้จะไม่สำเร็จในทันทีแต่เราก็ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ในที่สุดมันก็จะกลับมาตอบแทนเราเสมอไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสุขที่เห็นมันเสร็จแล้ว สุขที่เราได้เห็นผลลัพธ์และคำวิจารณ์ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม

และนี่คือประสบการณ์ตรงจากผู้ใช้งาน Story Tool เครื่องมือคู่ใจในการสร้างเรื่องอย่างมืออาชีพ ขอขอบคุณคุณนุ้ยมาก ๆ ค่ะที่มาแบ่งปันข้อมูลดี ๆ รวมถึงแนวคิดและมุมมองเพื่อเติมพลังงานด้านบวกให้ทุกคนที่มีความฝัน

ขอเพียงทุกคนกล้าเปิดใจและลองปล่อยผลงานออกไปดั่งคำที่คุณนุ้ยบอก โลกต้องหันมามองเห็นเราแน่นอนค่ะ ให้ Story BOWL และเครื่องมือ Story Tool เป็นเพื่อนเคียงข้างตลอดเวลา คอยแก้ปัญหาสมองตีบตันให้คุณนะคะสำหรับใครที่สนใจลองใช้เครื่องมือ Story Tool จิ้มเบาๆ ที่ https://storybowl.co/tools ได้เลยค่ะ ตอนนี้ฟรี 2 โปรเจ็กต์และมีคำแนะนำการใช้งานด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *