อาจารย์ด้านออกแบบสื่อนวัตกรรมกับการประยุกต์ใช้ Story Tool สอนสร้างตัวละครให้ทรงเสน่ห์ราวกับใช้เวทย์มนต์
เมื่อพูดถึงคำว่า Character Design เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึงตัวละครที่ถูกออกแบบผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ออกมามีรูปลักษณ์ที่สวยงามเป็นหลัก แต่ในมุมมองของ อาจารย์เอก ชวลิต ดวงอุทา กลับให้ความเห็นว่า “ตัวละครที่ดีไม่ควรมีดีแค่ สวย แต่ควรมี เสน่ห์ น่าค้นหาด้วย” และเพราะความคิดนี้ทำให้อาจารย์เอกออกแสวงหาเวทย์มนต์ที่จะรังสรรค์เสน่ห์ให้กับตัวละคร วันนี้ทางทีมงาน Story BOWL จะพาเพื่อนๆ ทุกคนไปรับฟังแนวคิดของท่านกันค่ะ
อาจารย์เอก เป็นอาจารย์ประจำอยู่มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบสื่อนวัตกรรม ที่รับผิดชอบการสอนการสร้างตัวละครที่จะนำไปใช้ในสื่อมีเดียต่างๆ เช่น โมเดล และอะนิเมชั่น แต่โดยส่วนใหญ่จะทำเกี่ยวกับการออกแบบตัวละครที่ใช้เป็น 3D และก็ 2D เป็นหลัก
จุดเริ่มต้นของการแสวงหาความรู้คืออะไร?
ก่อนหน้านี้ผมลาเรียน แล้วความรู้ของเราเมื่อก่อนก็ยังไม่มีอะไรที่เจาะลึก และหลังจากที่กลับมาก็รู้สึกว่าความรู้ที่มีอยู่ในช่วงแรกที่สอนเกี่ยวกับ Character Design มันเหมือนเอาท์ไปแล้ว ผมเลยต้องการมองหาอะไรใหม่ๆ เพื่อที่จะเอามาสอน ผมก็ค้นในอินเตอร์เน็ตต่างๆ ด้วยคำว่า Character Design ไปเรื่อยๆ จนมาเจอกับ MovieDIY ก่อน แล้วด้วยความบังเอิญผมเคยใช้ข้อมูลของเพจนี้เมื่อสมัยก่อนด้วยโดยไม่รู้เลยว่าเราใช้ข้อมูลของทางพี่เมษอยู่ จนมีพี่คนนึงแนะนำมาว่าให้เข้าไปที่ Story BOWL สิมีสอนนะ ผมรู้สึกว่าน่าสนใจเลยเข้าไปดู
ต้องบอกก่อนว่าตอนนั้นวิชาที่ผมสอนพ่วงกับวิชาเขียนบทด้วย ผมก็เลยหาดูหลักสูตรการเขียนบทที่มันสั้นๆ ไม่เจาะลึกมาก แต่ด้วยความที่ผมอยากรู้ว่ามันจะเป็นยังไงต่อ ผมก็ลงเรียนคอร์สที่สามารถใช้ความรู้ร่วมกันได้ คอร์สที่ผมลงเรียนมีสี่วัน แต่ Character Design จะอยู่วันที่ 3 ซึ่งผมก็นั่งฟังตั้งแต่วันแรกนะ ตอนแรกรู้สึกเพลิน ประกอบกับไม่ค่อยมีเวลาโฟกัสเลยคิดว่าจะนั่งฟังอย่างเดียว แต่พอเห็นเครื่องมือและก็ได้ลองทำตาม ก็รู้เลยว่าอันนี้คือความรู้ที่จะเอามาเติมส่วนที่ขาดไปของเราได้ แล้วเราค่อยประมวลผล เหมือนผมเรียนก่อนแล้วลองดูว่าจะหยิบอันไหนเพื่อที่จะเอาไปสอน เป็นการย่อยข้อมูลก่อนการสอนจริงก่อน
Character Design จะมุ่งเน้นเกี่ยวกับการดีไซน์พวกบุคลิกภายนอก Costume ต่างๆ และก็โปรแกรม แต่ด้วยความที่มันมีเอกลักษณ์รวมถึงศาสตร์นี้ไม่ได้มีให้เราเรียนรู้มาตั้งแต่ต้น เพราะมันจะอยู่ในกระบวนการของตัวละครในภาพยนตร์ เราก็เลยจับคีย์เวิร์ดเดียวกันตรงที่ว่า ในเมื่อตัวละครภาพยนตร์ใช้คนแสดง ส่วนเราทำตัวละครที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ ก็เลยประยุกต์ความรู้ที่เรียนตรงนี้เข้ามาเพื่อให้ตัวละครมีเสน่ห์อย่างที่ผมต้องการ จากนั้นก็จริงจังกับการเรียนที่ Story BOWL มาตลอด พอมีอะไรที่เกี่ยวกับ Character Design ของที่นี่ ถ้ามีเวลาก็จะลงเรียนทุกครั้ง
เรียนแล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่เคยสอนอยู่บ้าง
เปลี่ยนเยอะเลยครับ ตอนแรกจริงๆ เราเน้นความสวยงามของโปรแกรม เน้นความสวยงามสีสันและโครงสร้างตัวละคร แต่พอได้เรียนแล้วได้ความรู้เพิ่มเติม ทำให้เราจับคีย์เวิร์ดบางอย่างที่ใกล้ๆ กันได้ อย่างจุดเริ่มต้นผมมองเรื่องของแนวคิดการออกแบบ ถ้าเราเอามากางออกทั้งหมดแล้วการออกแบบมันก็คือต้นขั้วเดียวกัน แต่เราจะพูดยังไงให้เด็กเข้าใจ ซึ่งของพี่เมษทำให้ปัญหาในส่วนนี้ของผมหมดไป เพราะของพี่เมษจะเป็นคีย์เวิร์ดสั้นๆ ให้เราเอามาต่อ ทำให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น ต้องบอกก่อนว่าส่วนใหญ่เด็กที่เรียนออกแบบมักจะบรรยายไม่ค่อยเก่ง เราจึงต้องเริ่มจากคีย์เวิร์ดที่เข้าใจง่ายๆ กระชับ แล้วค่อยเอามาร้อยที่หลัง พูดง่ายๆ ว่าเราจะต้องเอากระบวนการคิดเริ่มต้นที่เป็นแนวความคิดกับเครื่องมือมาย่อยให้เด็กรู้สึกว่ามันง่ายต่อการนำไปใช้ ข้อดีก็คือ ทำให้เรารู้สึกสนุก และเด็กก็รู้สึกว้าวกับแนวการสอนใหม่นี้ อีกทั้งเด็กสามารถนำเอาคีย์เวิร์ดสั้นๆ เหล่านี้ไปใช้งานได้จริง ได้แนวความคิดที่แน่นขึ้น
ยกตัวอย่าง
ก่อนหน้าที่จะเป็น Character’s Map มันจะมีรังผึ้ง ( Idea Hive ) ผมก็จะให้เด็กๆ เริ่มคิดก่อน จากตอนแรกที่เน้นโปรแกรมขึ้นรูปให้สวยงาม แต่ผมปรับให้ใช้ความคิดนำ ส่วนผลลัพธ์จากโปรแกรมก็แล้วแต่เด็กแต่ละคนเลย ที่ให้ใช้รังผึ้งก่อนเพราะทำให้ความคิดพวกเขาแข็งแรง เหมือนเรากำหนดคำให้หนึ่งคำ เช่นโจทย์แรกผมให้คำว่า ‘ยักษ์’ แล้วนักศึกษาจะต่อยอดไปทางไหนก็ได้ ยักษ์ของแต่ละคนจะมีเหตุผลยังไงก็ได้ เขียนมาเลยยาวๆ หลายๆ เหตุผลเลย แล้วเอาเหตุผลเหล่านั้นมาคุยกัน อันไหนที่ไปต่อได้ก็ไปให้สุดแล้วค่อยเอามาใส่ใน Character’s Map ตรงนี้ทำให้เด็กสามารถเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน แต่เด็กแต่ละคนก็จะมีมุมมองความชอบต่างกันไป บางคนชอบมา Marvel บางคนชอบจิบิญี่ปุ่น มันก็จะได้ตามสิ่งที่พวกเขาต้องการ หรือถ้าบวกเทคนิคเข้าไปอีกบางคนชอบปั้น 3D เพราะอาจจะเขียนรูปไม่เก่ง เขาก็จะเอาตรงนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานได้ พอมีเครื่องมือแล้วเด็กก็ทำงานสะดวกขึ้นมาก
โจทย์ที่สองผมให้คำว่า ‘พิษณุโลก’ ความคิดของแต่ละคนก็ต่างกันไป บางคนคิดถึงหมาบางแก้ว บางคนคิดถึงโรงพยาบาลก็มี เพราะเด็กจะไม่นึกไม่ออกว่าอะไรคือความโดดเด่นที่พวกเขาต้องการ แต่จากการต่อยอดคีย์เวิร์ดในรังผึ้งไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าพวกเขาสามารถปั้นตัวละครที่เป็นซอมบี้ได้จากโรงพยาบาลของเขา ส่วนคนที่บอกว่าหมาบางแก้วก็แตกยอดไอเดียออกมาเป็นจิบิน่ารัก
สิ่งที่ผมได้จากเครื่องมือตรงนี้คือ ผมทำให้ความคิดแรกเริ่มของเด็กไม่แกว่ง มันเหมือนประจวบเหมาะตรงที่คอร์สที่เรียนมันเป็นโครงสร้างใหญ่ และผมได้เรียนตั้งแต่วิธีการคิด วิธีย่อยความคิดให้ต่อยอดเป็นสิ่งที่ผมต้องการคือ Character Design เด็กเลยได้ทั้งสองพาร์ธ ทั้งกระบวนการคิดที่แน่น และตัว Design ที่เขาสามารถปรุงแต่งยังไงก็ได้ให้มันสวยงาม
หลังจากปรับใช้ความรู้ที่เรียนมาไปถ่ายทอดกับนักศึกษาแล้วเป็นอย่างไร
ดีมากครับ เนื่องจากผมปรับใช้กับตัวเองก่อนที่จะสอน หลังจากที่เรียนมาพอมีความรู้ใหม่ๆ แล้วผมรู้สึกอุ่นใจ ตอนเอามาใช้ก็ไม่รู้หรอกว่าใช้ผิดใช้ถูก จากนั้นผมก็ค่อยๆ เติมในสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ แรกๆ ก็อาจจะไม่รู้เรื่องบ้าง ก็จะใช้วิธีย้อนดูคลิปเพื่อเติมให้ตัวเองเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าแม่นขึ้น พอได้เอาไปสอนก็รู้สึกเหมือนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน จากนั้นก็มีโครงการประกวด ผมก็ให้เด็กลองเอากระบวนการคิดทั้งหมดนี้ใส่ลงในการทำงานส่งประกวด ทั้งๆ ที่มันไม่มีอยู่ในหลักเกณฑ์การประกวดหรอกนะ และพอก่อนที่จะตัดสิน กรรมการจะเปิดให้ทีมงานได้พรีเซนต์ ผมให้เด็กส่ง Character Design ทั้งหมดที่ทำรวมทั้งของผมเองไปด้วย ปรากฏว่าเด็กเข้ารอบสองทีม และงานของผมอีกหนึ่งทีม เราได้ไปเล่าให้เขาฟังว่าจุดเริ่มต้นแนวคิดของเราเมื่อก่อนมันเป็นกระดาษที่เขียนไอเดียไว้ แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือ เราเล่าเรื่องโดยใช้เครื่องมือ Idea HIVE และ Character’s Map ซึ่งเขาก็ถามว่าเอามาจากไหน ก็เลยบอกว่าผมได้ไปเรียนเพิ่มเติมจากคอร์สของ Story BOWL ทำให้ความคิดมันกระชับขึ้น แล้วผมกับเด็กอีกทีมนึงก็ได้เข้ารอบ 12 คนด้วย
และมีอีกโครงการนึงที่ผมเข้าร่วมซึ่งก็ได้โจทย์มาว่า ต้องทำ Character ร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่และค่อนข้างยาก เพราะในชุมชนมีหลากหลายความคิด เราต้องไปคุยกับชุมชนก่อนเพื่อให้ได้ข้อมูลมา เราเลยเริ่มจากเอารังผึ้งไปเขียนให้ชุมชนดู แต่เขาก็ยังงงว่ามันคืออะไร เพราะชุมชนก็คือชาวบ้าน คือรัฐวิสาหกิจ เขาจะมองปลายทางเป็นหลัก ซึ่งผมก็เอาเครื่องมือ Idea HIVE และ Character’s Map ไปคุยจนเข้าใจกันได้ ทำให้ผมรู้สึกว่าการที่เรามีเครื่องมือที่ดีนั้นทำให้เราสามารถประยุกต์มันเพื่อใช้กับอะไรก็ได้ ผลลัพธ์ก็ออกมาตรงกับโจทย์ที่ต้องการ อยู่ที่ว่าเราจะเค้นคำถามหรือมีคีย์เวิร์ดอะไรที่ตอบโจทย์ทั้งตัวเรา ลูกค้า หรือกรรมการ ได้มากที่สุด พอได้ตรงนี้มาก็จะเพิ่มความมั่นใจว่าไอเดียเริ่มต้นเราไม่แกว่งแน่นอน
นักศึกษามี Feedback อย่างไร
ผมคิดเทียบจากการทำงานนะครับ รู้สึกเลยว่าเด็กๆ ทำงานได้เร็วขึ้น เด็กมีพื้นฐานความคิดเริ่มต้นที่แข็งแรงขึ้น เพราะรู้จุดที่จะจับมาเริ่มต้นมาเป็นแนวความคิดหลัก พอแต่ละคนเข้าใจวิธีการและมีความชำนาญมากขึ้น เขาก็จะประยุกต์สิ่งที่เรียนไปเป็นวิธีการของตัวเอง อย่าง Idea HIVE เด็กคิดมาแล้ว แต่พอถึงเวลาส่งงานจะเหลือแค่สายเดียวที่เลือกมา คือรวบเอาพื้นฐานต่างๆ มาปรับใช้เพื่อให้งานลุล่วงในเวลาที่สั้นลง จากนักศึกษา 19 คน ผลคือเกินครึ่งที่มีกระบวนการคิดและทำงานเร็วขึ้น
ในฐานะอาจารย์ที่ถ่ายทอดความรู้ คิดว่าอะไรคือความสำเร็จที่ได้จากสิ่งที่เรียนมา
ความสำเร็จในมุมมองของผม คือ เด็กสามารถคิดได้เร็วขึ้นจากทุกรุ่นที่สอนมา อย่างที่บอกพอเราพูดถึง Character Design ทุกคนจะนึกถึง 2D หรือ 3D ที่เป็นภาพออกมาเลย แต่ถ้าจะพูดจริงๆ แล้วในการสร้างตัวละครหนึ่งตัว องค์ประกอบมันเยอะมาก ตัวละครไม่ใช่แค่มายืนอย่างเดียว มันต้องมีหลายๆ อย่างประกอบกันจึงจะได้งานที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นความสำเร็จของผมคือ เด็กสามารถเอาองค์ความรู้ที่ผมถ่ายทอดไปขมวดและสร้างงานของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ครบถ้วน สมบูรณ์ตามที่พวกเขาต้องการ รวมถึงสามารถสื่อสารกับสื่อที่หลากหลายในปัจจุบันได้ คนที่รับสารก็เข้าใจแนวคิด ความรู้สึก หรือไอเดียต่างๆ ที่อยากจะถ่ายทอดออกไปได้จริงๆ เพราะสมัยนี้ Character มันไม่ได้มองแค่สวยไม่สวยแล้ว ความสวยแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าทำให้มีเสน่ห์มันจะดีกว่า ลึกกว่า เพราะเสน่ห์สามารถเล่าได้เยอะมากกว่าความสวยงาม ดังนั้นทางเลือกของนักศึกษาจึงไม่ควรมีแค่คำว่าสวยเท่านั้น คุณต้องบอกรายละเอียดอย่างอื่นได้ด้วย เช่นบางตัวละครที่มองเผินไม่สวยเท่าไร แต่ทำไมคนถึงชอบ ถึงได้รับความนิยม พอเด็กทำได้ตามนั้นผมก็รู้สึกดีใจ
ฝากอะไรถึงใครก็ตามที่อยากพัฒนาตัวเอง
โดยทั่วไปเลยจุดเริ่มต้นจริงๆ ที่จะพัฒนาความรู้มันมาจากสายงานก่อน เรามองว่าเด็กรุ่นใหม่ใกล้สื่อมากกว่าเรา เขาสามารถเสาะหาอะไรก็ได้ ดังนั้นตัวเราเองถ้าหยุดพัฒนาเราก็จะตอบคำถามเด็กไม่ได้ อย่างวิชาที่เราสอน มันเป็นสิ่งที่เราต้องรู้แต่เราตอบไม่ได้ พอตอบไม่ได้เด็กที่เรียนก็จะไม่มั่นใจในตัวเราแล้ว ผมจึงต้องหาความรู้ แต่ไม่ได้เพื่อเอามาตอบและเอาชนะเด็กนะ ผมต้องการรู้เพื่อคุยกับเด็กให้เป็นภาษาเดียวกัน พอคุยภาษาเดียวกันเด็กจะกล้าเข้าหาเรามากขึ้น ทำให้เราต้องคอยพัฒนาตัวเอง
อย่างคอร์สที่เรียนผมก็ไม่ได้ลงลึกทั้งหมด ผมจะมีหัวข้อที่เป็นพระเอกที่ผมอยากจะรู้ให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อย่างอื่นก็ต้องรู้ด้วยเพราะมันเป็นองค์ประกอบในการพัฒนา พอเราได้ความรู้แล้วนำไปสอนเด็ก สิ่งที่ผมเห็นคือด้วยวัยสี่สิบกว่ากับวัยสิบกว่าเราสามารถนั่งคุยกันได้ ผมบอกเด็กว่าอาจารย์ไม่รู้เรื่องอนิเมะที่พวกคุณคุยกันเลยนะ แต่อาจารย์รู้ว่าตัวละครแบบนี้มันพูดถึงอะไรได้บ้าง แล้วเขาก็จะเล่าว่าตัวละครแบบนี้เป็นแบบนี้นะ เราก็จะบอกว่าตัวละครแบบนี้สามารถมีบุคลิกแบบนี้ได้นะ เราไปหาข้อมูลเพิ่มเติมสิ สิ่งที่ผมแนะนำไปผมอาจจะใช้ดราก้อนบอลบวกกับอนิเมะปัจจุบันทำให้เด็กได้งานใหม่ๆ ดังนั้นจุดประสงค์หลักของผมคืออยากจะคุยกับเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าใจ เราจึงต้องรู้จริงๆ ก่อนที่จะเล่า การจะรู้ผมก็ต้องหาข้อมูลจากผู้รู้จริงหรือผู้มีประสบการณ์มาก่อน แล้วก็เล่าสิ่งที่เรียนรู้มาให้เด็กฟังก็จะเกิดความใกล้ชิดและสนใจ
และนี้คือประสบการณ์การตรงของอาจารย์เอกที่นำเอาความรู้จากคอร์สเรียนของ Story BOWL ไปพัฒนาการสอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย เพื่อให้การสร้างตัวละครนั้นมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น เมื่อตัวละครมีทั้งความสวย งามและเสน่ห์ ก็จะเหมือนกับว่าตัวละครนั้นๆ มีจิตวิญญาณซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่ารวมให้กับชิ้นงานนั้นๆ ด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอเพื่อนๆ ได้ฟังแล้วอยากจะลองหันมาพัฒนาตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้าได้ไกลกว่าเดิมกันบ้างรึเปล่า หากสนใจอยากเรียนรู้ Idea Hive และ Character’s Map แบบที่อาจารย์เอกใช้ก็อย่ารอช้าสมัครเข้ามาทดลองใช้งานผ่าน Link นี้ได้เลยค่ะ https://storybowl.co/tools
หรือใครสนใจพัฒนาสกิลเพิ่มเติม สามารถสมัครเรียนกับเราได้แบบรายปีเพื่อความรู้ที่ไม่จำกัดได้เลยที่นี่ค่ะ https://storybowl.co/membership-levels/
ทีมงาน Story BOWL ขอส่งกำลังใจให้เพื่อนๆ ทุกคนที่กำลังพยายามพัฒนาและฝึกฝนเพื่อให้ตนเองก้าวไปคว้าเป้าหมายมาไว้ในมือ ถ้าชอบก็ฝากกดแชร์และคอมเมนต์เป็นกำลังใจด้วยนะคะ