ตอนที่พี่เมษ ผู้คิดค้น Story Tools ของ Story BOWL จัด Workshop เรื่องโครงสร้างภาพยนตร์ ได้เกิดคำถามว่า “ถ้าเรารู้ว่าโครงสร้างที่ดีคืออะไร แล้วทำไมเรื่องถึงยังออกมาไม่ดี หรือไม่สนุกอยู่อีก” เป็นคำถามที่น่าสนใจและพี่เมษได้เคยตอบเอาไว้
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า เรื่องที่ดี หรือ เรื่องที่สนุก หน้าตามันเป็นยังไง?
เรื่องที่ดี สำหรับผมนั้นคือเรื่องที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของผู้สร้างได้ครบถ้วน แสดงถึงแกนของสิ่งที่ผู้สร้างอยากจะบอกได้อย่างชัดเจนและมีชั้นเชิง
ส่วนเรื่องที่สนุกนั้น คือเรื่องที่ตอบโจทย์ความต้องการกระหายที่จะรู้สึกบางอย่างจากเรื่อง (ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าความบันเทิง) และยังได้รับสิ่งที่ผู้สร้างอยากจะบอกเพื่อการเรียนรู้แนวคิดของผู้สร้างได้ (เพราะหลายครั้งเรื่องที่ไปไม่ถึงตรงนั้น ผู้ที่ติดตามจนจบอาจรู้สึกว่าในความสนุกที่เพิ่งได้รับชมไป มันยังไม่เต็มที่)
และนี่คือสองส่วนที่ต้องทำงานคู่กัน เรื่องเรื่องนั้นจึงจะสมบูรณ์แบบครับ เรื่องที่สนุกอาจจะยังไม่ใช่เรื่องที่ดีก็ได้ ส่วนเรื่องที่ดีก็อาจจะไม่สนุกก็ได้เช่นกัน
ทีนี้ไอ้ที่ทำให้ดีและสนุกเนี่ย บางครั้งมันต้องอาศัยวิธีคิดบางอย่าง เป็นวิธีการเล่าเรื่องเพื่อตอบสนองความกระหายของคนอ่าน/คนดู
ในครั้งก่อนกาลเก่า ยังคงไม่ปรากฏโครงสร้างใดๆ กับการสร้างเรื่องหรอกครับ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่เกิดจากการทำมาเรื่อยๆ แก้ไขดัดแปลงกันมาเรื่อยๆ วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ที่ใช้ได้แล้วดีก็ถูกจับนำมาบันทึก แกะ และเขียนออกมาเป็นทฤษฏี และเรื่องอาจถูกนำไปต่อยอดเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือคอนเทนท์อื่นๆ ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งบางงานใช้เงินเยอะ และเพื่อให้ผู้สร้างอยู่รอดมันต้องได้เงินกลับมาเยอะเช่นเดียวกัน แล้วเงินมาจากไหน …มาจากคนดูไงครับ หากอยากได้เงินคืนเยอะ ก็ต้องทำ Story ที่ทำให้คนหมู่มากมาติดตามให้ได้ และนอกจากสนองคนดูในแง่ความบันเทิงแล้ว ตัวเรื่องยังต้องทำหน้าที่เป็นเรื่องที่ดีด้วยในขณะเดียวกัน
โครงสร้างเรื่องจึงเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้เป็นอย่างมากครับ
มันต้องมีการปูพื้นให้ผู้ติดตามเตรียมพร้อมรับสิ่งที่เรื่องกำลังจะนำเสนอทั้งแก่นและเรื่องราว และต้องทำให้คนดูอยากรู้ว่าเรื่องราวนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไปอย่างไม่เบื่อ เพื่อที่จะมาสู่บทสรุปที่เขาได้รับอย่างอิ่มหนำ (อาจจะไม่อิ่มเอมสำหรับเรื่องที่เป็นโศกนาฏกรรมนะ) และรับทรรศนะบางอย่างจากผู้สร้าง ซึ่งทรรศนะนี้อาจจะเป็นการเปลี่ยนโลกไปเลยก็ได้
โครงสร้างที่ว่านี่ล่ะครับ จุดใหญ่ใจความของมันคือการจัดระเบียบทรรศนะของผู้สร้าง เพื่อให้เกิดเรื่องราวและความบันเทิงสูงสุด และจบที่ความอิ่มหนำทั้งสาระและบันเทิงแบบที่ควรจะเป็น เพราะโครงสร้างนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาจากการทึกทักเองของคนสร้าง แต่มันสร้างจากจิตวิทยาในการรับเรื่องราวของผู้ติดตาม มันเลยเกิดให้เห็นเป็นจุดต่างๆ ว่าจังหวะไหนคนอ่านคนดูต้องได้รับรู้อะไร
แต่โครงสร้างมันก็คือโครงสร้างครับ… คำถามสำคัญคือ อะไรที่อยู่ในโครงสร้างต่างหากที่ทำให้มันแตกต่าง สนุกสนาน เข้าถึงคนอ่านคนดู ตรงนี้วัดกันด้วยความสามารถส่วนบุคคลล้วนๆ แต่โครงสร้างก็จะช่วยพาไอเดียที่อยู่ในเรื่องนั้นให้อยู่ในจุดต่างๆ ที่เหมาะสม
ดังนั้นผู้สร้างที่มีทรรศนะชัดเจน มีไอเดียที่ดี รู้จักโครงสร้าง เข้าใจคนอ่านคนดู และสร้างทุกอย่างออกมาได้ คนนั้นก็จะสร้างเรื่องที่สมบูรณ์ได้ครับ และเมื่อคนดูเปลี่ยนไป โครงสร้างก็ต้องศึกษาคนดูและเปลี่ยนตาม เปลี่ยนตามเพื่อที่จะทำหน้าที่เดิมของมัน
แก่นทรรศนะที่ดีที่สดใหม่ พาไปสู่ ไอเดียที่ดี แต่ ไอเดียที่ดี อาจจะถูกทำลายด้วยโครงสร้างที่แย่ แต่ถ้ามีโครงสร้างที่ดี แต่มีไอเดียของฉากภายในที่แย่ ไม่สร้างสรรค์ ไม่สดใหม่ และไม่เข้าถึงผู้ติดตาม เรื่องราวเรื่องนั้นก็อาจจะแย่ได้ครับ… เพราะจริงๆแล้วการทำให้เรื่องสมบูรณ์แบบนั้น อาศัยทุกอย่างที่บอกมา ทุกอย่างสำคัญและมันก็ไม่ใช่งานง่ายๆ
ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ เราอยากให้ทุกคนที่คิด Story สร้างเรื่องที่สมบูรณ์ทั้งสาระและความบันเทิง แน่นอนว่าคนอ่านคนดูตอนหยิบเรื่องเราขึ้นมาเขาต้องการความบันเทิง และเราต้องมอบให้เขาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่จะทำให้เขาตรึงใจไปอีกนาน มันคือสาระและทรรศนะที่ทำให้เขาต้องคิดถึงเรื่องเรา แม้ว่าเรื่องราวจะจบแล้วก็ตามครับ
อย่าให้เวลาและเงินททองที่เขาจ่ายให้ Story ของเราต้องสูญเปล่าครับ…
บทความโดยพี่เมษ ยิ้มสมบูรณ์