วันนี้คุณสนใจอยากเรียนเรื่องอะไร...

รู้จักตัวตนของ Doctor Strange ผ่านการวิเคราะห์โดยใช้ Character’s map กัน

[icon name=”exclamation-triangle” prefix=”fas”] ****บอกกันล่วงหน้าสำหรับคนที่เข้ามาอ่านไว้ก่อนเลยนะคะว่า บทความนี้มีเนื้อหาสปอยล์เรื่องราวของ Dr Strange แบบละเอียดยิบอย่างแน่นอนจ้า [icon name=”exclamation-triangle” prefix=”fas”]

สวัสดีค่า สำหรับบทความนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องของการวิเคราะห์พื้นฐานในการสร้างคาแรกเตอร์ของ ดร.สตีเฟ่น สเตรนจ์ (Dr. Stephen Strange) ตัวละครเอกจากภาพยนตร์ Doctor Strange ที่ตอนนี้กำลังมีภาคต่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรากันอยู่เลยทีเดียว ต้องบอกก่อนว่านี่เป็นหนึ่งในตัวละครที่ชอบมากๆ ของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล ด้วยความที่นักแสดงอย่าง benedict Cumberbatch มาสวมบทบาทได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้เราติดภาพจำจากเขาหลายๆ อย่าง ทั้งลักษณะการพูด ทรงผม แม้กระทั่งความครุ่นคิดในแววตาของเขา

การปรากฏตัวในโลกของมาร์เวลของ Dr. Strange นั้นมีให้เราได้ชมผ่านตากันมาแล้วหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ของตนเองในภาคแรกที่ใช้ชื่อเดียวกับตัวละคร หรือการเข้าไปมีบทบาทอยู่ใน Thor Ragnarok การปรากฏตัวในภาพยนตร์ที่รวมเหล่าฮีโร่อย่าง Avengers ถึงสองภาค (Infinity war และ End game) รวมทั้งการได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมากกับ Spider man No way home ที่ทำให้เราเห็นถึงการเปิดแง้มของโลก ‘พหุจักรวาล’ (Multiverse) ที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าความกว้างใหญ่ไพศาลของมันจะมากขนาดไหน

จนมาถึงภาคล่าสุด “Doctor Strange in the Multiverse of Madness

 ครั้งนี้เราจะมาทำความรู้จักกับตัวตนของ ดร.เสตรนจ์ ให้มากขึ้น ด้วยการวิเคราะห์ในแบบฉบับของ Story Bowl ด้วยเครื่องมือที่ทำให้มันเป็นเรื่องง่ายขึ้นมากอย่าง character’s map กันค่ะ

มา…เริ่มกันเล้ย!

Doctor Strange (2016)

Doctor Strange เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยตัวละครอย่าง ดร.สตีเฟ่น สเตรนจ์ หมอผ่าตัดผู้เก่งกาจเป็นอันดับต้นๆ แต่กลับต้องประสบอุบัติเหตุจากความประมาท ทำให้เขาสูญเสียเส้นประสาทมือทั้งสองข้างจนไม่สามารถที่จะผ่าตัดใครได้อีก นั่นทำให้เขาผู้หยิ่งทะนง พยายามค้นหาหนทางเพื่อให้ตัวเองหายเป็นปกติ ยอมทุ่มเททั้งชีวิต จนกระทั่งเขาได้พบกับเส้นทางสู่ คาร์มาทาช สถานที่ลึกลับแห่งหนึ่งในกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาลซึ่งได้รับการเล่าลือว่าสามารถรักษาได้ด้วยวิธีทางเลือก

แต่ใครจะคิดว่าทางเลือกนั้นได้พาเขามาสู่โลกใบใหม่แห่งเวทมนตร์ ที่คนแบบเขาไม่เคยเชื่อเลยทั้งชีวิต… คาร์มาทาซคือที่ฝึกตนของเหล่าจอมเวทย์ผู้ปกป้องโลกใบนี้จากภัยร้ายต่างๆ มานับพันปี การเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ไปสู่พลังลึกลับที่ไร้ซึ่งเหตุผลทั่วไปจะอธิบาย ทำให้เขาต้องละทิ้งตรรกะและอัตตาของตัวเองเพื่อเปิดใจรับสิ่งนี้ และกลายเป็นพ่อมดจอมเวทย์แห่งมาร์เวลในที่สุด

 เมื่อเรามองถึงตัวละครมากมายในจักรวาลของภาพยนตร์มาร์เวล จะพบว่า การสร้าง ดร.สตีเฟ่น สเตรนจ์ ให้เป็น Protagonist หรือตัวเอก ที่มีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์นั้นดูเหมือนจะยาก แต่หากเราลองจำแนกองค์ประกอบต่างๆ ของเขา และลองทำความเข้าใจไปทีละส่วน จะทำให้เราเห็นภาพว่าสิ่งที่ทำให้ตัวละครนี้โดดเด่นและมีมิติที่ชัดเจนว่ามาจากอะไรบ้าง และสิ่งที่ช่วยได้มากๆ ก็คือ character’s map ตามแบบฉบับ Story Bowl โดยวิธีใช้งานก็ง่ายมาก

มาเริ่มกันที่

POI หรือ Personal Overview Identity

  • รูปลักษณ์ภายนอกของ ดร.สตีเฟ่น สเตรนจ์ มีสิ่งที่ทำให้เราจำได้ง่ายตั้งแต่ทรงผมเรียบเนี้ยบที่มีแถบสีดอกเลาอยู่ด้านข้างทั้งสอง กับเคราทรง Full GOATEE ที่จะไว้โดยรอบริมฝีปากทั้งหมด ไปจนถึงการแต่งกายด้วยชุดสีน้ำเงินเข้มตัดกับสีผ้าคลุมแดง และยังมีไอเทมประจำตัวอย่าง
  • Cloak of Levitation ผ้าคลุมสีแดง ที่มีความคิดเป็นของตัวเองแต่กลับยอมสยบให้เขาคนเดียว
  • Eye of Agamotto ไอเทมที่กักเก็บ time stone เอาไว้ ซึ่งเขาได้สวมสร้อยไว้ที่คอตนเองเสมอเพื่อปกป้องไม่ให้ใครนำไปได้

Type หากมองจากเรื่องราวในช่วงก่อนที่เขาจะประสบอุบัติเหตุ จะเห็นว่าดร.สตีเฟ่น สเตรนจ์ เป็นคนหยิ่งทะนงในความเก่งของตน มั่นใจในตัวเองสูง บ้างาน และเช่นเดียวกับที่คริสทีน พาล์มเมอร์ คนที่เขารักได้ย้ำว่าเขาทำตัวเป็นช้างเท้าหน้าเสมอ แต่เมื่อมองดูลึกเข้าไป เราจะเห็นถึงความเป็นคน ฉลาดหลักแหลม มีเหตุมีผล ใช้ตรรกะ มักมองความเป็นไปได้และประเมินทันทีว่าเขาทำได้หรือไม่ คนกล้าเสี่ยงชอบความท้าทาย หรือแท้จริงลึกที่สุดแล้ว เขาก็คือคนที่ใช้ความสามารถในการช่วยเหลือคนอื่น เสมอเพราะไม่ว่าจะเส้นทางหมอ หรือนักเวทย์ เป้าหมายก็คือการช่วยเหลือผู้คนเช่นกัน

Point of view ในภาคแรกทัศนคติของเขาต่อโลกใบนี้ คือ เขาจะเชื่อในสิ่งที่มองเห็นและสัมผัสได้เท่านั้น ดังนั้นในครั้งแรกที่เขาพบกับ The Ancient One อาจารย์ใหญ่ของสถาบันคาร์มาทาชและรับรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็เกิดการต่อต้าน หัวเราะกับสิ่งที่เขาได้ยิน จนเมื่อโดน The Ancient One  เบิกเนตรให้เห็นโลกคู่ขนาน พหุจักรวาลอีกมากมายเขาถึงได้เชื่อและเปิดใจ แต่เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดความโกลาหลจากสิ่งที่เกิด เราจะเห็นว่า เขาเป็นคนที่ เชื่อในตัวเอง มากกว่าใคร มักจะใช้การตัดสินใจแบบประเมินพื้นฐานความเป็นไปได้เสมอ จนเกิดเป็นคำติดปากอย่าง “This is the only way” ขึ้นมานั่นเอง

Dramatic needs ความปรารถนาของ ดร.สเตรนจ์ นั้น คือการปกป้อง ไม่ว่าจะเป็น ปกป้องโลก ปกป้องคนที่เขารักซึ่งในภาคล่าสุด หนังจะพาเราไปพบกับความรู้สึกภายในของเขาที่มีต่อ คริสทีน พาล์มเมอร์ หญิงสาวผู้เป็นมากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่คนรักของเขา ในตอนที่เขาเลือกจะเป็นจอมเวทย์ นั่นก็เพราะเขารู้ว่าภัยร้ายกำลังจะมาถึงโลกใบนี้และหากเขาเลือกทางกลับไปเป็นหมอผ่าตัดธรรมดา ก็คงจะปกป้องเธอไว้ไม่ได้แน่ และทางเลือกนั้นกลับทำให้เขาไม่สามารถลงเอยกับคริสทีนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในพหุจักรวาลไหนๆ ก็ตาม หรือการที่เขาก็เลือกจะใช้มนตร์ที่เสี่ยงเพื่อทำตามคำขอของ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ นั่นก็เป็นสิ่งที่เขาต้องการ ปกป้องให้ปีเตอร์ได้ใช้ชีวิตในแบบปกติได้ แต่อย่างที่เห็น สุดท้ายมันนำเราไปสู่การเปิดจักรวาลอื่นๆ ของสไปเดอร์แมน

Hero Point เราจะเห็นชัดเจนถึงความเป็นฮีโร่ในตัวของเขา เริ่มจากความสามารถในการเรียนรู้ของ ดร.เสตรนจ์ อยู่ในระดับอัจฉริยะ เขาสามารถเรียนรู้คาถาและคัมภีร์ต่างๆ ของคาร์มาทาซได้รวดเร็วกว่าใคร จนต้องเรียนด้วยตัวเองในมิติกระจกเพื่อไม่ให้กระทบกับโลกจริง เรียกว่ามีพัฒนาการก้าวกระโดดกว่าคนอื่นๆ และความสามารถด้านเวทย์มนตร์อันเก่งกาจ ที่ใช้โดยตรงหรือพลิกแพลงให้ต่อสู้กับศัตรูได้เสมอ

Weak point จุดอ่อนที่มองเห็นในตัวเขาอย่างชัดเจน คือ เขากลัวความล้มเหลว เริ่มจากการที่เขาต้องสูญเสียความสามารถด้านศัลยแพทย์เพราะอุบัติเหตุที่ทำลายเส้นประสาทมือของเขาไป เขาจึงยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้มือของตัวเองกลับมา จนใน What if เค้าพยายามช่วยคริสทีน พาล์มเมอร์แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง ถึงอย่างนั้นก็ยังจะตามหาวิธีต่อไปจนกว่าจะสำเร็จให้ได้ ด้วยบุคลิกของเขาทำให้หลายคนน่าจะคิดว่าเขาเป็นพวกโหยหาความสำเร็จในชีวิต พวกมั่นใจในตัวเองว่าเก่งมาก แท้จริงแล้วมันมาจากจุดอ่อนของเขา เขากลัวความล้มเหลวนั่นเอง

Work งานหลัก คือ จอมเวทย์แห่ง แซงทัม แซงทอรัม (Sanctum Sanctorum) ในมหานครนิวยอร์ก

Home เมื่อเลือกจะช่วยโลกด้วยการเป็นจอมเวทย์แล้ว เขาก็ต้องหันหลังให้กับคริสทีน เขาจึงอยู่ลำพังมาตลอด ไม่มีครอบครัว

Play เรียกได้ว่าการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เป็นงานอดิเรกของเขา เขามักจะอ่านหนังสือ เรียนรู้เวทย์มนตร์ลึกลับในยามว่าง

Condition ด้าน Bio สำหรับเงื่อนไขด้านร่างกาย ก็คือ มือของเขาที่ประสบอุบัติเหตุจนใช้การแบบเดิมไม่ได้ ทำให้เขาไม่สามารถเป็นหมอผ่าตัดมือหนึ่งอย่างที่เคยเป็น

Condition ด้าน Psyco เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคของ ดร.สตีเฟ่น เสตรนจ์ ก็คือ ความมั่นใจและตรรกะความคิดแบบเส้นตรงของเขาเองนั่นล่ะ

เขามีตรรกะและเหตุผลมาก เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็ตามเขาจะมองความเป็นไปได้มากกว่าความรู้สึก มองหาทางที่ดีที่สุด (ซึ่งอาจไม่ตรงใจ หรือมองไม่เห็นทางที่ซิกแซกได้) หลายครั้งทำให้เขาต้องทะเลาะกับคนรอบตัว แม้แต่การที่เขาต้องสูญเสียคริสทีนไป ไม่สามารถอยู่ด้วยได้ เขาจึงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว และมักโดนถามว่า “Are you Happy?” นั่นทำให้เราเห็นว่า เขาไม่ใช้หัวใจในการตัดสินใจ จนหัวใจเขาบอบช้ำอยู่ข้างในนั่นเอง และเราจะเห็นพัฒนาการด้านนี้ของเขาในภาคล่าสุดที่เขาต้องเผชิญกับตัวตนของเขาในอีกจักรวาล

Condition ด้าน Social เงื่อนไขด้านสังคมของเขา คือ ไม่มีความเป็นส่วนตัว เนื่องจากการเป็นผู้ช่วยเหลือในสายตาทุกคน ทำให้มีคนมาร้องขอความช่วยเหลือจากเขาเสมอๆ จนไม่สามารถมีเวลาของตัวเอง แม้กระทั่งเสียคนที่รักไป

และสุดท้าย

Theme ของเรื่อง **ตรงนี้มีสปอยล์ภาคล่าสุด(อีกแล้วน๊า)

จริงๆ ธีมของ Dr. Strange ในสองภาคมีความต่างกัน แต่เนื่องจากครั้งนี้เราพูดถึงภาพรวมทั้งหมด จึงเลือกธีมในภาคล่าสุดมาวิเคราะห์นะคะ ซึ่งสำหรับพี่วาฬน้ำเงินแล้ว ธีมที่ได้จากการดูภาคนี้คือ..

This is not the only way”

อย่างที่ได้เล่าไปแล้วว่า เรามักจะได้ยินคำติดปากของเขาเสมอที่พูดว่า “This is the only way” และเมื่อเปิดเรื่องมา Dr. Strange  ในอีกจักรวาลหนึ่งได้พูดกับ อเมริกา ชาเวซ ถึงทางเดียวที่จะหยุดไม่ให้ปิศาจเอาพลังในการข้ามจักรวาลของเธอไป คือการที่เขาต้องฆ่าเธอและเอาพลังมาเอง จนกลายเป็นการทำลายความเชื่อใจ ทว่า เมื่ออเมริกามาเจอหมอแปลกของเรา เขาเองก็มีความคิดเช่นเดียวกัน… แต่ท้ายที่สุดแล้ว เขาได้เรียนรู้ว่า การเอาพลังของเธอไปไม่ใช่คำตอบ และทางออกบางครั้งก็ไม่มีทางเดียวเสมอ แต่จะเกิดเหตุการณ์เช่นไรที่นำไปสู่การตัดสินใจนั้น อยากให้ได้ลองชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวคุณเองดูนะคะ

จะเห็นว่าเมื่อเราแยกองค์ประกอบออกมาแล้วค่อยๆ หลอมรวมกลับเข้าไป ภาพนั้นก็จะกลายเป็น  ดร.สตีเฟ่น สเตรนจ์ ในแบบที่ภาพยนตร์ถ่ายทอดออกมา เราก็จะเห็นเหตุผลในการตัดสินใจในเหตุการณ์ต่างๆ พบว่าเขามักจะใช้พลังเพื่อการควบคุมสถานการณ์ผ่านการคำนวนของเขา ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ใน infinity war เขาได้จำลองโอกาสที่จะชนะธานอส และพบว่าจะมีโอกาสชนะเพียง 1 ในกว่า 14 ล้านของรูปแบบความจริงที่จะเกิด และแม้ก่อนหน้านั้นเขาจะพูดกับไอรอนแมนว่าเขาจะต้องเลือกปกป้องมณีก่อน แต่สุดท้ายแล้ว ความมีเหตุมีผล และความมั่นใจในการคำนวณของตนเอง ทำให้เขาเลือกทางที่เป็นไปได้ที่สุดคือขอชีวิตของโทนี่ไว้ แม้ว่าจะต้องแลกกับมณีให้ธานอสก็ตาม

และทั้งหมดนี้ก็เป็นการวิเคราะห์ในแบบฉบับของพี่วาฬน้ำเงินในฐานะของแฟนคลับภาพยนตร์เรื่องนี้คนหนึ่งเท่านั้น  ใครที่อยากจะลองจำแนกวิเคราะห์ตัวละครอื่นบ้าง ลองทำดูนะคะ สิ่งนี้จะช่วยเราในการฝึกสร้างตัวละครของตัวเอง โดยเฉพาะการวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือง่ายๆ แบบนี้ก็สามารถติดตามได้ในเพจ storybowl.co กันได้เลย

ไว้เจอกันอีกครั้งหน้าค่ะ บ๊ะบายยยยยย

Comment List

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *