วันนี้คุณสนใจอยากเรียนเรื่องอะไร...

วิธีทำให้ “ตัวเอก” ของเรามีมิติ

เรื่องราวต่างๆ ที่เราสร้างขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจุดประสงค์ของการเล่าคือเร้าอารมณ์ เพื่อนำพาผู้ติดตามเนื้อหาไปสู่แก่นสารจริงๆ ของเรื่องที่ผู้สร้างต้องการจะสื่อ และยานพาหนะที่นำพาพวกเขาไปสู่สิ่งนั้นก็คือ “ตัวละครเอก” นั่นเอง

ตัวละครเอก คือ ตัวละครที่เป็นศูนย์กลางของเรื่อง (ซึ่งในการเรียกขานแบบไทยๆ เราก็เรียกว่าพระเอกหรือนางเอก)

ตัวละครคนที่คนดูจะเฝ้าเกาะติดการเดินทางของเขาและเกิดอารมณ์ร่วมไปกับเขาในระหว่างที่ติดตามเรื่องราว อารมณ์ร่วมนี่ล่ะ จะทำให้เราติดตามเขา เอาใจช่วยเขา เชียร์เขา และเขาจะพาเราไปสู่อีกฟากของแก่นสารของเรื่อง

ในเนื้อเรื่องเราจะเห็น 3 สิ่ง 

“ตัวตน – ไขว่คว้า – เปลี่ยนแปลง” 

อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ตามลำดับขององก์ (ACT) ของเรื่อง ซึ่งแบ่งเป็นทั้งหมด 3 องก์ตามโครงสร้างคลาสสิคที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ยุคสมัยของอริสโตเติล

3 สิ่งที่ว่านี้เราเรียกอีกอย่างได้ว่า Character arc หรือ เส้นทางของตัวละคร ตั้งแต่เริ่มไปจนถึงจบเรื่องของเขามันเป็นอย่างไร เริ่มต้นเขาเป็นคนอย่างไร เกิดอะไรขึ้น เขาต้องการอะไรและเขาทำอะไร และสิ่งที่เขาทำให้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในตอนจบของเรื่อง

ACT I : ตัวตน

ในส่วนขององก์ที่หนึ่ง คือองก์เริ่มเรื่อง มันคือช่วงเวลาที่เราต้องทำให้คนดูเห็นตัวตนของตัวละครของเรา ผ่านการกระทำหรือจากสิ่งที่เขาถูกกระทำในฉากต่างๆ เพื่อสร้างตัวตนของเขาในเบื้องต้นที่คนดูต้องรับรู้ ช่วงนี้เราต้องทำให้คนดูรักเขา เตรียมพร้อมที่จะไปต่อ

ข้อมูลในส่วนตัวตนในเบื้องต้นช่วงแรกๆ ของเรื่อง อาจจะยังไม่ต้องเจาะลึกไปถึงอดีต ปูมหลังใดๆ เอาแค่ให้เห็นเป็นประมาณเพื่อนคนนึงที่นั่งข้างๆ เราในห้องเรียน พูดคุยรู้จักกันประมาณนึง แต่เขายังไม่เล่าเรื่องลึกๆให้เราฟัง …ในช่วงนี้เราเลยอาจจะต้องให้ข้อมูลประมาณนี้กับคนดู

– เขาเป็นใคร รูปร่างหน้าตา อายุ นิสัยเบื้องต้นดูเป็นคนแบบไหน

– อาชีพ(หากเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับอาชีพ) สถานะทางอาชีพ 

.

หากหนังเรื่องนั้นเป็นหนังดราม่าเกี่ยวกับครอบครัว อาจจะให้เห็นสถานะทางครอบครัวเยอะหน่อย เขาเก่งอะไร ในเรื่องนี้อะไรที่เขาทำได้ดีเหนือคนอื่นๆ

– เขาแย่เรื่องอะไร หรือมีจุดอ่อนอะไร อะไรที่เป็นนิสัยเสียของเขา

– เขามีความใฝ่ฝัน หรือปราถนาอะไร ส่วนนี้ก็สำคัญ นี่คือสิ่งที่จะทำให้คนดูได้เห็นความฝัน และแรงผลักดันของของเขาว่าเขาอยากจะได้อะไร

– เขามีความขัดแย้งกับอะไร กับตัวเอง กับสังคม กับบุคคล กับสิ่งแวดล้อม

– เขามีความสัมพันธ์แบบไหนกับใครในเรื่อง

เอามาปูกันที่ก้อนนี้ก่อนเลย นี่คือเบื้องต้นของการนำเสนอตัวตนของตัวเอกของเรา

เราต้องออกแบบฉากต่างๆ เพื่อให้คนดูเห็นข้อมูลเหล่านี้ ถ้าจะให้ดึต้องบอกข้อมูลเหล่านี้ด้วยการ Show Don’t tell ได้จะดีมาก เพราะมันคือการแสดงให้คนดูเห็นและซึมซับความเป็นตัวละครของเรา

ส่วนเรื่องปูมหลังอะไรที่สำคัญเราจะหาโอกาสเล่าในหลายๆ ส่วนขององก์ที่ 2 ครับ ปูมหลังที่สำคัญกับเรื่อง คือส่วนเหตุผลของไอ้ข้อมูลด้านบนนี้ล่ะ เช่น เขาแย่เรื่องความสัมพันธ์ เข้ากับคนไม่ได้ ปูมหลังของเขาคือคำตอบว่าเพราะอะไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น… และในช่วงท้ายขององก์ที่หนึ่งนี่เอง จะเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นให้เขาเกิดเป้าหมาย หรือภารกิจที่เขาจะต้องทำ

ACT II : ไขว่คว้า

.

ในส่วนที่สองนี้ ตัวละครจะต้องมีเป้าหมายหรือภารกิจบางอย่าง ที่ภารกิจนั้นอาจจะเกิดจากความขัดแย้ง อาจจะเกิดจากความต้องการ หลังจากมีบางอย่างเข้ามากระตุ้นเขาในท้ายองก์แรก สำคัญมากๆ เลยนะครับว่าภารกิจที่เขาจะต้องทำนี้ เราต้องตอบให้ได้คือ

– เขาต้องทำอะไร

– ทำไมเขาจึงต้องทำสิ่งนั้น

– หากไม่ทำ มันจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่เขาต้องทำ มันคือสิ่งที่เขาต้องทำให้ได้ ทำให้มันสำเร็จ เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ไม่เช่นนั้นแล้วชีวิตเขาจะพังพินาศไป หรืออะไรก็ว่าไป เงื่อนไขและเดิมพันอาจจะต้องสูงหน่อย และตัวละครต้องตัดสินใจเข้าไปกระทำเป้าหมายนั้นเอง

แต่แค่นี้มันยังดูไม่ไขว่คว้าเนอะ

…ดังนั้นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆในช่วงนี้ คือสิ่งที่เราเรียกว่า “อุปสรรค”

เราต้องขัดขาขัดแข้งเขา เราต้องใส่อุปสรรคต่างๆลงไป ทำให้เขาต้องไขว่คว้าจนถึงที่สุด เราต้องทำให้เขาพ่ายแพ้ ทำให้เขาพัง เพื่อให้เขาเรียนรู้ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด และทางการกระทำ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ เลย สมมุติตัวละครเอกของเราต้องทำข้อสอบให้ได้เจ็ดสิบข้อขึ้นไป ไม่อย่างนั้นเขาจะถูกไล่ออก ในช่วงแรกเขาไม่อ่านหนังสือหรอก ภารกิจของเขาคือการหาวิธีโกงข้อสอบ ระหว่างโกงเขาก็ต้องเจออุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่อาจจะมีอันใหญ่สุด เช่น คนที่เขาไม่อยากให้รู้ดันรู้ความลับนี้ หรือตกอับเพราะอาจารย์ที่รู้ทันแอบเปลี่ยนข้อสอบ ทำให้ชีวิตเขาย่ำแย่ และเขาได้เรียนรู้ว่าเขาไม่ควรโกง

เหตุการณ์นี้คือแนวโน้มที่จะทำให้เขาเปลี่ยนแปลงจากเด็กที่ขี้เกียจไปเป็นเด็กที่ขยัน เมื่อเขาพบหนทางแล้ว เขาอาจจะได้โอกาสใหม่ให้เขาไขว่คว้าอีกครั้ง …แต่ครั้งนี้เขารู้แล้วว่าเขาต้องทำอย่างไร

ACT III : เปลี่ยนแปลง

ในช่วงนี้จะเป็นช่วงการพิสูจน์สิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้ง่ายแบบที่เขาคิด แต่เมื่อเขาเรียนรู้แล้วเขาอยู่บนเส้นทางที่ถูกที่ควร เขารู้ว่าเขาต้องทำอะไร พอๆ กับที่เขาน่าจะรู้ว่าเขาจะต้องไม่ทำอะไรเพื่อที่จะให้สิ่งที่ต้องการนั้นสำเร็จ และเมื่อเขาทำสำเร็จ เขาจะเปลี่ยนไป ในทีนี้เราเรียกว่า “การเกิดใหม่”

วิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงคือ การทำให้ข้อเสีย ข้อแย่ หรือความขัดแย้งนั้นหายไป หรือแม้จะคิดอีกอย่าง คือการทำให้ข้อดีเขาเปลี่ยนไปก็ได้

อย่างเช่น ตัวละครแบงค์ในฉลาดเกมส์โกง เขาเปลี่ยนจากคนดีกลายมาเป็นคนที่จะร้ายในตอนจบ เพียงแต่ในฉลาดเกมส์โกงเขาไม่ใช่ตัวละครเอก แต่ตัวละครเอกเรื่องนี้ก็เปลี่ยนเหมือนกัน จากการที่เธอต้องการโกงระบบ เธอก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับระบบ อยู่ในฟากของสิ่งที่เรื่องบอกว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง…

ส่วนนี้จึงเป็นการสรุป Arc ของตัวละคร

– บางคนเริ่มจากลบไปจบบวก

– บางคนเริ่มจากบวกไปจบลบ

– บางคนเริ่มจากบวกไปบวก แต่ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนอื่น หรือสภาพแวดล้อมแทน

– บางคนเร่ิมจากลบไปลบ มักจะอยู่ในหนังแนว why done it หรือแค่แสดงให้เห็น

– บางคนเริ่มจากลบไปลบกว่า

และคนดูก็จะเรียนรู้จากเรื่องราวและความเปลี่ยนแปลงของตัวละคร แปรค่าไปเป็นแรงบันดาลใจและการเรียนรู้ของเขาอีกที

ก็ลองๆ ดูกันนะครับ ว่ามันพอช่วยอะไรได้มั้ย นี่คือหลักหนึ่งที่ต้องฝึกในรูปแบบของ Story BOWL Society ซึ่งจะฝึกให้คล่องเพื่อที่จะทำการหาโครงสร้างและวิธีการใหม่ๆ

ดังนั้นมันจึงไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกการเล่าเรื่องต้องทำตาม ไม่ใช่กฏ แต่มันก็เป็นหลักที่มีเหตุมีผล และพิสูจน์มาแล้ว เราจึงเลือกที่จะเอามานำเสนอ

ขอให้มีความสุขกับการสร้างเรื่อง

บทความโดยพี่เมษ ยิ้มสมบูรณ์

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า