วันนี้คุณสนใจอยากเรียนเรื่องอะไร...

พลังของการสร้าง Dialogue ให้นิยาย (สนุกได้ด้วยแค่บทสนทนา)

เคยเจอปัญหาแบบนี้มั้ยคะ เราพยายามที่จะเข้าถึงเรื่องราวของฉากนั้นด้วยการพูดคุยของตัวละคร แต่เขียนยังไงก็ไม่สามารถพาไปได้ 

กลายเป็นบทพูดที่น่าเบื่อ เยิ่นเย้อ ไม่เข้าที่ เช่น… 

“สวัสดีครับ”

“ค่ะ สวัสดี”

“ผมเอกนะครับ คุณล่ะ”

“นิดาค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ”

“ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกันครับ นั่งก่อนสิครับ”

“ขอบคุณค่ะ… ทานอะไรดีคะ”

“เดียวผมขอเมนูก่อนนะครับ”  

คล้ายๆ กับข้างบน เราอ่านแล้วเห็นว่า บทสนทนาของเอกและนิดาดำเนินไปอย่างเนิบนาบ โดยไม่รู้เลยว่าเมื่อไรถึงจุดเข้าเรื่องเสียที แต่แม้เราจะเห็นแล้ว บางครั้งเราเองก็ไม่รู้จะโยงให้เข้าเรื่องเช่นไร เขียนบทสนทนาแบบไหนถึง 

ด้านบนเป็นการเขียนตัวอย่างโดยไม่มีการบรรยายใดๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพของการสนทนานี้ แต่หากมันมีพลังมากพอเพียงประโยคแรกก็ควรที่จะดึงเราเข้าสู่สิ่งที่ต้องการได้ แล้วอะไรบ้างล่ะที่ควรมีเพื่อให้บทสนทนาของตัวละครที่เราสร้างมีพลังและน่าอ่าน วันนี้พี่พราวมีเทคนิคง่ายๆ มาแนะนำกันค่ะ

Dialogue ที่ดีสำหรับการเขียนนิยายนั้น ต้องให้คุณค่าเชิงวรรณกรรมและดำเนินเรื่องราวไปได้พร้อมๆ กัน ในแต่ละฉากไม่ควรมีบทสนทนาที่เกินมา 

คำว่า “เกิน” คือ เกินความจำเป็น เกินเรื่องราวที่จะสื่อ คุยในสิ่งไม่จำเป็นต่อเนื้อเรื่องมากจนเกินไป มันก็คล้ายๆ กับพฤติกรรมของคนที่เราไม่จำเป็นต้องเขียนในนิยายเช่น ทุกคนต้องเข้าห้องน้ำอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าตัวละครนั้นไปเข้าห้องน้ำตอนไหน หากไม่มีเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับห้องน้ำ

แล้วบทสนทนาที่ทรงพลังกับการอ่าน เป็นแบบไหนบ้าง?

บทสนทนาที่ทรงพลังคือ บทสนทนาที่ทำให้นิยายของเราขับเคลื่อนไปข้างหน้า คลายปมบางอย่างในอดีต และสร้างความน่าจดจำให้คนอ่าน สิ่งเหล่านี้ เราจะเห็นจากภาพยนตร์หรือนิยายที่มีคำคมมาจากบทพูดของตัวละคร ที่เข้าถึงจิตใจของคนอ่านและคนดูได้ ซึ่งเรามีเทคนิคง่ายๆ ที่ควรจะนำไปใส่ไว้ในบทสนทนาแต่ละฉากดังนี้

  • บทสนทนาที่แสดงถึงคาแรกเตอร์

การเขียนให้คนอ่านรู้ถึงตัวตนของตัวละครผ่านจากบทสนทนา ไม่ว่าจะเป็นการทำความรู้จัก หรือในฉากที่กำลังขัดแย้งกัน สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายพูดคุย จะช่วยให้คนอ่านเห็น ‘นิสัย’ ของตัวละครโดยที่เราไม่ต้องเขียนว่าเขาเป็นคนอย่างไร เช่น แทนที่จะเขียนว่า เขาเป็นคนไม่ยอมใคร ก็สามารถแสดงออกด้วยคำพูดของเขาแทน

“ผมไม่มีวันก้มหัวใครคุณหรือใครก็ตามที่เอาเปรียบครอบครัวของผมเด็ดขาด และอย่ามาพูดซ้ำอีกนะ พอกันที!” 

จากประโยคพูดของตัวละครนี้ บ่งบอกว่าเขาเป็นคนเช่นไรได้โดยไม่ต้องเขียนบอกนิสัยเขาตรงๆ ทำให้เรื่องของเรามีความลื่นไหลทางภาษามากกว่า

  • บทสนทนาดำเนินพลอต

ในบางครั้งบทสนทนาจะช่วยให้พลอตขับเคลื่อนได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการเปิดความขัดแย้งของตัวละคร การบอกความคิดและเป้าหมายของเขา การสร้างจุดเปลี่ยนให้กับเรื่องราว 

ยกตัวอย่างเช่น

“พรุ่งนี้ฉันจะไปจากที่นี่ ไม่หันกลับมา ฉันแน่ใจแล้วว่าตัวเองต้องการอะไร เธอจะไปกับฉันไหม B” 

คำชักชวนของ A ทำให้เธอเงียบลงเล็กน้อย ครุ่นคิดหักลบถึงสิ่งที่จะตามมาอยู่ในใจถ้าหากเธอเลือกเส้นทางนี้ 

“ไปสิ ฉันจะไปกับนาย” ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจได้

A คุยกับ B ถึงสิ่งที่เขาต้องการและชักชวน B ให้ไปกับเขา ซึ่งทั้งสองตัดสินใจ เราจะเห็นความลังเลเล็กน้อย แต่แล้วพลอตก็วิ่งไปข้างหน้าเมื่อพวกเขาตกลงกัน กรณีไม่ตกลง ต้องอธิบายถึงสิ่งที่ B ปฏิเสธ และมีพลังพาไปข้างหน้าเช่นกันนะคะ เพราะหากการสนทนานี้ไม่สำเร็จอย่างไม่มีเหตุผล จะเป็นบทสนทนาที่เกินและไม่จำเป็นทันที และเราสร้างฉากให้ A ไปโดยไม่สนทนาแทนก็ได้

  • บทสนทนาที่เข้าถึงจิตใจคนอ่าน

แม้ว่าฉากนี้ของคุณจะไม่ได้เป็นฉากที่ทำให้เรื่องดำเนินหรือเน้นคาแรกเตอร์ มันอาจจะเป็นบทสนทนาในช่วงที่ตัวละครกำลังรับมือกับปัญหา เป็นฉากประโลมจิตใจ ฉากรักโรแมนติก สารภาพความในใจ สิ่งเหล่านี้ต้องมี “ความเข้าถึงจิตใจ” เป็นสำคัญ เพราะพลังของการเขียนคือการสร้างความรู้สึกผ่านตัวอักษร สิ่งที่สื่อลงไปต้อง “สัมผัสกับจิตใจ” ก่อให้เกิดความ รัก โกรธ เศร้า สงสาร อิ่มเอม ให้กับคนอ่านได้ 

ยกตัวอย่างเช่น 

หลังจากที่ นางเอกเผชิญการสูญเสียพ่อของเธอไปกะทันหัน คนรักของเธอเดินมานั่งข้างๆ และได้พูดกับเธอ

“ผมเคยสูญเสียคุณพ่อมาก่อน… ในตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนตัวเองขาดคนสำคัญไปแล้ว บางเรื่องที่ผมคุยแต่กับพ่อก็ไม่มีใครให้ผมคุยอีก จนคุณแม่ของผมเดินมาหา กอดผมไว้ และพูดกับผมว่า ‘ไม่มีใครจากเราไปจริงๆ หรอก เขาแค่เพียงย้ายจากอยู่ข้างกาย เข้าไปอยู่ในหัวใจของเราเท่านั้นเอง’ ตั้งแต่วันนั้นผมก็พกรูปคุณพ่อไว้ และทุกวันที่ผมอยากคุยผมจะพูดกับท่าน พูดกับคนที่อยู่ในหัวใจของผม ผมยินดียกวิธีนี้ให้คุณฟรีๆ เลยนะ พ่อคุณที่อยู่ในหัวใจกำลังรอจะคุยกับคุณอยู่นะครับ”

จะเห็นว่า…

มันคือ การเข้าถึงจิตใจของตัวละครที่กำลังสูญเสีย ไปพร้อมๆ กับเข้าสู่จิตใจของคนอ่าน ซึ่งต้องมีการปูเรื่องราวมาสักพักนะคะ ซึ่งผลจากประสบการณ์ชีวิตและจากเรื่องราวที่เราปูมา จะทำให้ บทพูดนี้ทรงพลังกับคนอ่านได้ในด้านการให้กำลังใจ และปลอบประโลม

  • บทสนทนาที่ให้ Theme 

ก่อนเราจะเขียนนิยาย เราต้องหา Theme ของเราให้เจอว่านิยายเรื่องนี้กำลังจะบอกกับคนอ่านเช่นไร เมื่อถึงจุดหนึ่งของเรื่องราว เราควรมีฉากที่ย้ำสิ่งนั้น ย้ำ Theme นั้นให้กับคนอ่าน 

หาก Theme ของเรา คือ  ธรรมะย่อมชนะอธรรม

การมีบทสนทนาในช่วงท้ายที่เราผ่าน ไคล์แมกซ์มาสู่ Theme ให้เกิดการเน้นย้ำ จะทำให้คนอ่านได้รับมากขึ้น

ข้อควรระวัง อย่ายึดติดว่าต้องสอนด้วยคำพูดเสมอไป หากเราสอนและสื่อถึง theme ด้วยเหตุการณ์ที่ดีมากแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างบทสนทนาที่ให้ Theme ขึ้นมา แต่อาจเป็นบทสนทนาที่ช่วยในการทำความเข้าใจแทนค่ะ โดยการเขียนบทสนทนาแนวนี้ ก็จะมีเทคนิค ตาม Genre นิยายเสริมได้เช่นกัน

และนี่ก็เป็นเทคนิคการสร้างบทสนทนาขึ้นมา แน่นอนว่า สิ่งนี้ต้องใช้ประสบการณ์และความพยายามเรียนรู้อย่างมาก ไม่มีใครที่เก่งตั้งแต่แรก นักเขียนชื่อดังหลายท่านก็ผ่านงานที่ต้องแก้บทสนทนากันทั้งนั้น อยากให้ทุกคนลองฝึกฝน อย่างน้อยๆ ลองหาคนอ่าน คนช่วยดู เพื่อพัฒนางานของเราให้ออกมาดีที่สุด

เป็นกำลังใจให้กับนักเขียนนิยายทุกคนนะคะ

บทความโดย พี่พราว นามปากกา “วาฬน้ำเงิน”

และตอนนี้ พี่พราวกำลังเปิดคอร์สสอนเขียนนิยาย สามารถสมัคร หรืออ่านรายละเอียดได้ที่นี่เลย

อ่านประวัติของ พี่พราว นามปากกา “วาฬน้ำเงิน” ได้ที่นี่

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *