วันนี้คุณสนใจอยากเรียนเรื่องอะไร...

จะสร้างเรื่อง สร้างอะไรก่อนระหว่างตัวละคร กับ Theme

เหมือนกับไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ตัวละคร กับ Theme ก็เช่นเดียวกัน

นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เราสร้าง แล้วแบบไหนดีกว่ากันล่ะ? 

หลายคนสงสัยโดยเฉพาะเหล่ามือใหม่หัดแต่งเรื่องกันหลายๆ คนว่า ตัวละครเกิดก่อน หรือ Theme เรื่องเกิดก่อน จริงๆ แล้วแบบไหนถูกกันแน่… ฟันธงแบบรวบรัดตรงนี้กันเลยครับว่า แบบไหนก่อนก็ได้เหอะ เอาที่สบายใจได้เลย

มันไม่มีสูตรสำเร็จในตอนเริ่มต้นจริงๆ ครับ เพราะเหตุผลในการมาของเรื่องของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน

บางคนมีไอเดียเรื่องจากตัวละคร

บางคนมีไอเดียเรื่องจากเหตุการณ์

บางคนมีไอเดียเรื่องจาก Theme

ไม่ว่ามันเป็นอย่างไร สุดท้ายแล้วมันต้องมาทั้งหมด มาอยู่ในเรื่องของเรานั่นแหละ อะไรจะเกิดก่อนก็ได้ แต่มันมีวิธีการค้นหา Theme ที่เหมาะที่จะอยู่ในเรื่องของเราครับ

ทวนกันนิดนึง

Theme คือแก่นเรื่อง และเป็นสิ่งที่เราอยากจะบอกในรูปของประโยคสั้นๆ ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวของเรา เมื่อคนอ่าน คนดู เสพเรื่องของเราจนจบ องค์ประกอบทุกอย่างของเรื่องจะนำพามาสู่ประโยคนี้ ซึ่งทุกอย่างที่ว่ามา จะผูกพันกับ Thought หรือความคิดของเรา

ทดสิ่งข้างบนไว้ก่อนนะ เรื่อง Thought ต้องคุยกันยาว ขอยกไปไว้คราวถัดๆ ไปครับ …เรามาดูวิธีที่เราใช้ตลอดเพื่อให้ได้ทุกอย่างครบและสอดคล้องกันไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมาก่อน…

  • ตัวละคร มาก่อน

หากสร้างเรื่องจากตัวละครก่อน เราก็มาดูว่าตัวละครของเราเป็นใคร เอาง่ายๆ ก่อนนะครับ เช่น เราสนใจอาชีพ “นักดับเพลิง”

จากนั้นเราก็ใช้ Thought ของเราครับ มาหาว่าเรารู้สึกยังไงกับนักดับเพลิง เช่น นักดับเพลิงคือการป้องกัน การทำงานเป็นทีม การเสียสละ ได้มาแล้วลองดูครับว่าเราอินกับคำไหน เราเชื่อกับแต่ละคำว่าอย่างไร สมมุติเรามองว่า การดับเพลิงคือเรื่องของการทำงานเป็นทีม แล้วการทำงานเป็นทีมมันดีหรือเสียอย่างไร มันคืออะไรสำหรับเรา เราเชื่อว่าอะไรกับการทำงานเป็นทีม เราอาจจะเชื่อว่าการทำงานเป็นทีมคือความเชื่อใจกัน อย่างนี้ก็ได้ครับ มันก็อาจจะพูดได้ว่า “การเชื่อใจกันในทีมจะทำให้เราประสบความสำเร็จ” นี่คือตัวละครมาก่อน Theme ครับ เราหา Theme จากความเป็นตัวละครตัวนั้น

  • Theme มาก่อน 

สมมุติเราไปอยู่ในเหตุการณ์อะไรซักอย่างเป็นเหตุการณ์เล็กๆ เช่น คนแซงคิวตอนต่อแถวจ่ายเงินอะไรซักอย่าง แล้วเหตุการณ์นั้นพาเราตกตะกอนว่า “ผู้คนบนโลกนี้ล้วนเห็นแก่ตัว” อันนี้คิดก่อนนิดนึงนะว่า ตัวละครเราจะเป็นใครทำอาชีพอะไรที่เชื่อมโยงกับคำว่าเห็นแก่ตัวได้บ้างครับ

อาชีพอะไรดีนะ ที่เห็นชัดๆ สมมุติว่าเป็น “ทนายความ” เป็นคนที่สู้เพื่อให้คนชนะคดีเพื่อหาเงินจากสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่มันอาจจะไม่ยุติธรรมจริง สมมุติว่าเป็นอย่างนี้จะได้มั้ยนะ จากนั้นลองหาดูว่าเขาควรจะเป็นคนที่เรียนรู้สิ่งนี้ด้วยตัวเอง หรือเขาจะสอนให้โลกได้รู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นจริง

ถ้าเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตอนเริ่มเรื่องเขาอาจจะเป็นคนที่เชื่อว่าคนเราส่วนใหญ่ไม่เห็นแก่ตัว เขาอาจจะเป็นคนเผื่อแผ่ช่วยเหลือคน และสุดท้ายเมื่อผ่านเรื่องราวมาเขาจะได้เรียนรู้ว่าอยู่ในโลกใบนี้ต้องเห็นแก่ตัว เพราะทุกคนเห็นแก่ตัว คนดีอยู่ไม่ได้

แต่ถ้าเขาสอนให้โลกนี้ได้รับรู้แก่นนี้ เขาอาจจะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมากๆ และใช้สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ และเขากำลังบอกโลกว่ามันเป็นอย่างนั้น อาจจะต้องผ่านตัวละครใสๆ ที่ไม่เชื่อแบบนั้น แต่บทสรุปตัวละครตัวนั้นก็ต้องเปลี่ยน

หาก Theme เป็น Negative แบบนี้ เรื่องเราจะออกทางสะท้อนสังคม แต่ถ้าเราอยากเปลี่ยนแนวความคิดให้สว่างขึ้น บวกขึ้น เราอาจจะต้องเริ่มเปลี่ยนที่ Theme ก่อน ให้เป็น “การให้ทำให้เรามีคุณค่า” แล้วสร้างตัวละครเริ่มต้นจากการเป็นทนายเห็นแก่ตัว ที่จบท้ายเขากลายเป็นคนที่เข้าใจคุณค่าผ่านการให้ หรือกลายเป็นทนายรุ่นใหญ่ที่มีแนวคิดการทำงานอยู่ที่การเมตตาและการให้ ที่ต้องงัดข้อกับทนายวัยรุ่นที่เชื่อว่าทุกคนบนโลกล้วนเห็นแก่ตัว สุดท้ายแล้วเขาจะเปลี่ยนตัวละครทนายวัยรุ่นได้ด้วยอะไรบางอย่าง…

เห็นมั้ยครับว่าไม่ว่าจะคิดอะไรแบบไหน มันจะต้องหาวิธีความเชื่อมโยงกัน ให้มีทั้งสองสิ่งที่แข็งแรงในท้ายที่สุด ไม่สำคัญว่าอะไรจะมาก่อน มาหลัง อะไรจะมาก่อนก็ได้ “แต่ของมันต้องมี”

บทความโดยพี่เมษ ยิ้มสมบูรณ์

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า