วันนี้คุณสนใจอยากเรียนเรื่องอะไร...

คุณตั้ม ปัณณวิชญ์ เตชะเกรียงไกร บรรณาธิการ นักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งเพจ “ชมรมวิจารณ์บันเทิง” กับเทคนิคการวิจารณ์ภาพยนตร์อย่างสร้างสรรค์

เรียกได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของโลกเลยก็คงจะไม่ผิด เมื่อเราได้เสพผลงานหรือชิ้นงาน สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วเกิดอาการอยากพูดถึงมันทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ฟัง หนังสือที่อ่าน หรือแม้แต่ภาพยนตร์ที่ดู เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เสพแล้วเราอยากจะบอกต่อ จากปากต่อปากที่เม้าธ์มอยกันในกลุ่มเพื่อน ไปจนถึงการโพสต์ไปบนโลกโซเชียล นั่นก็ถือเป็น “การวิจารณ์” อย่างหนึ่งแล้ว

บทความนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับนักวิจารณ์ระดับอาจารย์กัน แต่! เดี๋ยวก่อน ก่อนจะไปรู้จักกับนักวิจารณ์มืออาชีพท่านนี้ ขอบอกไว้เลยว่าท่านไม่ได้มีประสบการณ์แค่ด้านเดียวนะ ก่อนหน้านั้นก็ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการมาก่อนด้วย เรียกได้ว่ามีสกิลการ Put the right man to the right job! หรือการเลือกนักเขียนให้เหมาะกับงานเขียนนั่นเอง

จากบทสัมภาษณ์…คุณตั้ม ปัณณวิชญ์ เตชะเกรียงไกร นักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งเพจชมรมวิจารณ์บันเทิง เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์ พ่วงตำแหน่งอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำหนังสั้นธีสิส รับให้คำปรึกษาทั่วราชอาณาจักรอีกด้วยค่ะ สำหรับใครที่กำลังอยากเรียนรู้การเป็นนักวิจารณ์ หรือสนใจการเป็นบรรณาธิการ บทความนี้มีข้อมูลดีๆ มาแบ่งปันให้แน่นอนค่ะ

บทบาทของนักวิจารณ์ภาพยนตร์และบรรณาธิการคืออะไร

ขอเริ่มที่คำว่า นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ก่อนแล้วกัน เราโตมากับการดูหนัง สิ่งแรกที่รู้สึกกับหนัง และอยากจะแชร์ออกไปก็คือ เราเห็นอะไรในหนังเรื่องนั้นบ้าง ขอเกริ่นก่อนว่าเราโตมาในยุคที่สังคมใช้เหตุผล ใช้มารยาทในการพูดคุยกัน ไม่มีการเขียนด่าทอกันด้วยคำว่า ชอบไม่ชอบ ดีไม่ดี เกลียดหรือชัง เรียกได้ว่าแทบจะไม่ใช้อารมณ์ในการพูดถึงสิ่งสิ่งใดเลย และเราก็ซึมซับสังคมแบบนั้นมา ดังนั้นบทบาทของนักวิจารณ์ในแบบที่เราเป็นก็คือ แบบ Journalism เป็นนักสื่อสาร วิจารณ์ในลักษณะของการทำให้คนที่อ่านงานของเราแล้วเกิดความอยากดูหนังเรื่องนั้น จะไม่ใช่แบบที่นำเอาทฤษฎีมาวิเคราะห์ และเวลาเจอชิ้นงานที่อยากบอกต่อ เราจะไม่บอกต่อในลักษณะที่อวยเกินไป หรือปลื้มจนออกนอกหน้า แต่เป็นการบอกต่อว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้หนังเรื่องนั้นน่าสนใจ

จากคำกล่าวของนักวิจารณ์รุ่นอาจารย์ อาจารย์เกีรยติศักดิ์ สุวรรณโภคิน การเขียนถึงภาพยนตร์ในเชิงของการประเมินว่าดีไม่ดี จะคงอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่การพูดถึงเหตุและผลจะคงอยู่กับเรื่องเรื่องนั้นตลอดไป จากประสบการณ์ที่ถูกฝึกฝนมานาน ทำให้เราสามารถหาความน่าสนใจจากหนังที่เราไม่ชอบได้เช่นกัน แทนที่จะพูดถึงว่าหนังไม่ดีอย่างไร เรามาหาว่าดีอย่างไรดีกว่า มองหาวิธีคิด มุมมอง หรืออะไรที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจแล้วเผยแพร่ออกไป เวลาคนไปดูก็จะได้สัมผัสถึงจุดนั้นด้วย

ดังนั้นนักวิจารณ์ก็เหมือนการทำหน้าที่เป็นกลุ่มคนที่อยากบอกต่อและแนะนำเพื่อให้ชิ้นงานนั้นๆ ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นไป

ต่อมาคำว่า บรรณาธิการ เกิดขึ้นจากการเลือก บรรณาธิการคือผู้เลือก หนึ่งเลยคือเลือกนักเขียนให้เหมาะกับงานเขียน เป็นเหมือนดังผู้กำกับที่เลือกนักแสดงให้เหมาะกับเวที สองคือเลือกสิ่งที่อยากจะนำเสนอออกมารวมเป็นแพคเกจและส่งมอบให้กับคนอ่าน บรรณาธิการนั้นต้องทำงานร่วมกับนักเขียน มีหน้าที่แนะนำมุมมอง แนวทางต่างๆ ให้กับนักเขียนนำไปขัดเกลา ต่อยอดเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด

บรรณาธิการมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลสิ่งที่น่าสนใจจากหลายๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นจากบทความก็ตาม บทวิจารณ์ก็ตาม รวมถึงรวบรวมลักษณะของคนอ่าน นำทั้งหมดมาวิเคราะห์ให้เห็นภาพเป็นรูปธรรม เราเชื่อว่าคุณจะได้ฝึกฝนตัวเองจากการเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ไม่ควรจมอยู่กับความชอบเดิมๆ ควรเปิดใจรับอะไรใหม่ๆ ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ เหมือนการจัดเซตเมนูให้มีความหลากหลาย เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับเมนูนั้นๆ ก่อนจะส่งต่อออกไป

งานวิจารณ์ที่ดี ควรก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไหน และควรมีสิ่งใดอยู่ในการวิเคราะห์ วิจารณ์นั้นบ้าง?

เป็นคำถามที่โดนถามมาตลอด และเป็นคำถามที่ถามตัวเองมาตลอดเช่นกัน ว่างานวิจารณ์ที่ดีคืออะไร วิจารณ์ในลักษณะที่อยากเรียกเรตติ้ง หรืออยากทำงานในแบบที่เราทำต่อไป

งานวิจารณ์ที่ดีควรทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ทำให้เรามีความสุขกับการอ่านงานชิ้นนั้น ทำให้เราอยากดูหนังเรื่องนั้น เหล่านี้ควรจะเป็นจุดหลักของการวิจารณ์แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ในตำราอื่นๆ ก็มีที่บอกว่างานวิจารณ์ควรก่อให้เกิดการพัฒนาชิ้นงานต่อไปเช่นกัน อย่างไรก็ตามควรใช้เหตุและผลที่จะพูดถึงในทางที่ไม่ดี มากกว่าที่จะใช้อารมณ์ นักวิจารณ์ไม่จำเป็นต้องปากจัด แซะเจ็บๆ หรือคอยจับผิด เพราะสุดท้ายแล้วผู้เสพชิ้นงานก็จะเป็นผู้วิจารณ์และตัดสินด้วยตัวเอง

พูดถึงการเรียกเรตติ้ง วิธีการง่ายสุดคือการเล่นกับอารมณ์คน ใช้คำแรงๆ ใช้คำตรงกันข้ามที่เรียกอิโมชั่นจากคนอ่านได้ เพียงแค่นี้ก็เรียกยอดไลค์ได้มากมายแล้ว แต่งานวิจารณ์ที่ดีในแบบของเรา เราขอยึดตามตำราที่ต้องมี Wish and Charm ก็คือต้องมีเสน่ห์และมีมุมมองที่น่าค้นหา มีความเฉียบคม มีภาษาที่สละสลวย เป็นการพูดถึงเรื่องนั้นๆ ด้วยความหลงใหลให้คนที่มาอ่านคำวิจารณ์แล้วมีความรู้สึกคล้อยตามไปกับเรา อาจจะไม่ได้ชอบ แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านเพราะเรากำลังชูชุดที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้นำเสนอจุดดี จุดด้อย ไม่ได้ฟันธงว่าหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี

ถ้าถามว่าทำไมถึงไม่บอกจุดด้อย หรือข้อไม่ดีบ้างจะได้เกิดการพัฒนา การจะบอกจุดด้อยหรือข้อไม่ดี ไม่จำเป็นต้องบอกผ่านสื่อ ไม่จำเป็นต้องประกาศออกไป สามารถบอกกับเจ้าของงานโดยตรงได้ ส่งเมลหา หลังไมค์ไป ไลน์หา หรือนัดกินข้าวก็ได้ แต่การบอกผ่านสื่อคือการพูดถึงใครสักคนในด้านไม่ดีให้คนอื่นได้ยิน สำหรับเราเรียกว่าเป็นการนินทา และรู้สึกว่าไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แต่ถ้าพูดในสิ่งที่น่าสนใจของคนคนนั้นให้คนอื่นได้ยิน อย่างน้อยคนอ่านก็อาจจะอยากไปตามงานชิ้นนั้น รู้สึกดีกับเจ้าของงาน เพราะสุดท้ายแล้วจะชอบหรือไม่ชอบก็เป็นความรู้สึกของแต่ละคน บังคับกันไม่ได้

หนังที่ดีในมุมมองของนักวิจารณ์แบบคุณตั้มควรเป็นอย่างไร

บนโลกใบนี้มองหนังที่ดีที่แตกต่างกันแล้วแต่มุมมองและความต้องการของแต่ละคน

หนังที่ดีสำหรับเราคือ หนังที่รู้ว่าจะนำเสนอเพื่ออะไร และนำเสนอให้ใครดู ไม่จำเป็นต้องอาร์ตจ๋า แมสจ๋า หรือมีคนดูเป็นร้อยล้าน หนังที่ดีสำหรับบางคนอาจจะเป็นหนังทำเงิน หนังที่มีแง่มุมทางศิลปะ หรือหนังที่ทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วม นั่นก็แล้วแต่มุมมองของผู้กำกับแต่ละคน สำหรับเราที่เป็นคนดูจะมองว่าหนังเรื่องนั้นทำตามเจตนารมณ์ของผู้ทำแล้วหรือยัง แล้วเจตนารมณ์นั้นออกมาในหนังมากน้อยแค่ไหน หนังที่ดีควรตอบเจตนารมณ์ของผู้สร้างได้อย่างครบถ้วน ไม่กั๊ก ไม่พยายามเป็นเหมือนคนอื่น ต้องเป็นตัวของตัวเอง

พูดถึงทักษะที่บรรณาธิการและนักวิจารณ์ควรมี

ทักษะของนักวิจารณ์

  • สิ่งแรกจะต้องรู้จักสิ่งที่เราจะวิจารณ์ให้มาก รู้ทุกแง่มุม ทุกเหลี่ยมด้าน ทุกความหลายหลาย การจะรู้จักได้เราก็ต้องมีความหลงใหล เข้าอกเข้าใจและหวังดีกับสิ่งนั้น และพูดถึงมันอย่างชื่นชม พูดด้วยความอยากส่งต่อด้วยใจรัก นักวิจารณ์ไม่ได้มีหน้าที่มากระทำชำเราสิ่งที่เรารัก แต่เป็นผู้ที่ส่งเสริมสิ่งที่เรารักให้คงอยู่อย่างนั้นต่อไป และทำให้เกิดชิ้นงานที่ดีต่อไปเรื่อยๆ
  • อย่างที่สอง ทักษะที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ เรียนรู้และปรับตัวตามโลกให้ทัน แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ละทิ้งยุคเดิม เพราะงานบางอย่างอาจจะถูกสร้างในแบบดั่งเดิม เราจึงต้องรู้จักวิเคราะห์และมองให้ลึกซึ้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงแล้วค่อยวิจารณ์ ควรรู้จักเพิ่มพูนทักษะในการเรียนรู้ ทักษะในการเข้าใจสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้
  • การวิจารณ์คือการใช้ถ้อยคำ การใช้ข้อความนำเสนอ ดังนั้นก็จะต้องมีทักษะเรื่องจิตวิทยาในการเขียน ไม่ควรใช้ข้อความที่กระทบความรู้สึกในเชิงลบ งานวิจารณ์ไม่ควรจะวิจารณ์ที่ตัวบุคคล แต่ควรจะวิจารณ์ที่ผลงาน ถ้าเราพูดถึงชิ้นงานคนจะไม่เจ็บ แต่ถ้าเราพูดถึงตัวตนคนจะเจ็บ อาจจะใช้คำพูดว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะดีขึ้นได้อย่างไร ด้วยอะไร ซึ่งเราไม่ได้เขียนบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ดี ส่วนมากคนทำงานจะรู้ข้อควรพัฒนาของตัวเองอยู่แล้วว่าขาดอะไร ต้องเติมตรงไหน แต่อาจจะมีข้อจำกัดระหว่างทำก็เป็นได้ นั่นจึงเป็นบาดแผลของเขาที่นักวิจารณ์ไม่ควรไปซ้ำเติม

ส่วนทักษะที่บรรณาธิการควรมี

  • คือจะต้องเป็นคนเลือกเก่ง มีทักษะในการเลือก ต้องรู้ว่าจะเลือกอะไรแล้วนำมาใช้เพื่ออะไร ต้องรู้จักนักเขียนของตัวเองว่ามีมุมมองแบบไหน มีความชอบอะไร มีบาดแผลในใจไหม มีอคติเรื่องใดหรือเปล่า เพราะการไม่ชอบหรือมีอคติต่อสิ่งใดจะส่งผลให้ทำสิ่งนั้นไม่ได้ แต่ถ้าให้ทำงานที่ชอบหรือถนัดจะส่งผลให้งานออกมาดีกว่านอกจากรู้จักนักเขียนของตัวเองแล้วก็ต้องรู้จักเป้าหมายหรือกลุ่มคนอ่านของตัวเองให้ดีมากที่สุดด้วย ถึงจะเลือกคนให้เหมาะกับงานได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกชิ้นงานให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย และต้องรู้จักเลือกนำข้อมูลที่มีประโยชน์มาผสมผสานกันเพื่อก่อให้เกิดความหลากหลาย
  • ต้องมีทักษะจิตวิทยาในการพูดคุยกับนักเขียน และต้องมีจิตวิทยาในการพัฒนาผู้อ่าน ต้องรู้ว่ากลุ่มผู้อ่านรุ่นต่อๆ ไปเป็นอย่างไร โตมาแบบไหน โตมากับอะไร เพื่อที่จะปรับให้งานเขียนล้อตามสมัยแต่ต้องไม่ทิ้งผู้อ่านรุ่นเก่าไว้ข้างหลัง และไม่ควรให้ผู้อ่านรุ่นเก่าย่ำอยู่ที่เดิมๆ ต้องสามารถแทรกบริบทต่างๆ ลงในชิ้นงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่แตกต่างอย่างลงตัว ต้องคอยเติมให้ผู้อ่านตามโลกให้ทัน ถึงแม้ผู้อ่านจะปฏิเสธไม่อยากอ่านสิ่งใหม่ๆ เราก็จะต้องหาทางแทรกให้เนียน ให้ผู้อ่านคล้อยตาม ต้องสามารถเชื่อมโยงนักเขียนเข้ากับนักอ่านได้

อยากให้เล่าความทรงจำดีๆ หรือสิ่งที่ภาคภูมิใจจากการได้ทำงานบรรณาธิการหรือนักวิจารณ์ให้ฟังหน่อยค่ะ

ความภูมิใจของการเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์คือ การพูดถึงหนังบางเรื่องแล้วสามารถทำให้คนอยากไปดูได้ ก็รู้สึกพอใจที่สุดแล้ว

อีกเรื่องคือความภูมิใจจาก Feedback จากคนที่อ่านงานวิจารณ์ของเรา แล้วเกิดมุมมองเพิ่มเติม เราเขียนในสิ่งที่พยายามสื่อให้คนเห็นมุมมองในงานวิจารณ์ของเรามากขึ้น พอคนมาอ่านแล้วเห็นในจุดนั้นตามไปด้วย เราก็จะรู้สึกว่าเราทำหน้าที่ได้ดีแล้ว

ส่วนความภาคภูมิใจของการเป็นบรรณาธิการ คือ การใช้หน้าที่มอบโอกาสให้คน คนไหนที่มีแววเราจะชวนมาเขียน คนไหนที่น่าสนใจเราจะเปิดโอกาสพร้อมกับจะผลักดันให้เขาเปล่งประกายออกมาให้ได้ ด้วยความมั่นใจว่าเขาสามารถทำได้

บรรณาธิการไม่ใช่ผู้ที่อยู่เบื้องหน้า แต่เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ความภูมิใจคือการทำให้คนที่เลือกเติบโตต่อไปได้

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ประสบการณ์ตรงจากนักวิจารณ์และบรรณาธิการมืออาชีพ ไขข้อสงสัยหรือได้ข้อมูลดีๆ กันบ้างรึเปล่า อย่างไรก็ตามไม่ว่าเพื่อนๆ จะสนใจอยากเดินในเส้นทางไหน จงอย่าหยุดขวนขวายและมองหาโอกาสให้ตัวเองนะคะ คนเราไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด แต่ทุกคนสามารถเป็นคนที่เก่งขึ้นและประสบความสำเร็จได้ ถ้าเรารู้จักฝึกฝนจนชำนาญค่ะ ทางทีมงาน Story BOWL ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนที่อยากลองเริ่มต้นเป็นนักวิจารณ์ หรือบรรณาธิการมือใหม่นะคะ ถ้าชอบก็ฝากกดแชร์และคอมเมนต์ให้ด้วยนะคะ เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานมีพลังในการค้นหาความรู้ดีๆ มาแบ่งปันกันแบบนี้ต่อไปค่ะ

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

บทความล่าสุด

หมวดหมู่บทความ

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า