วันนี้คุณสนใจอยากเรียนเรื่องอะไร...

7 Platform สำหรับ Creator ที่มี Story อยากเล่า

ปัจจุบันมี “เหล่า Creator” หรือ “ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์” สร้างเรื่องราวผ่านทางโลกออนไลน์ให้เราได้เห็นอย่างมากมาย… ฮั่นแน่! เพื่อนๆ คงสงสัยใช่ไหมว่าพวกเขาคือใครกันน้า? ถ้าให้อธิบายฟังง่ายๆ พวกเขาคือนักเขียนนิยาย นักวาดการ์ตูน หรือแม้แต่คนทำหนังสั้นอย่าง “จริงๆ แล้วฉันคือประธานบริษัท” นั่นเอง แน่นอนคนกลุ่มนี้จะสร้างผลงานออกมาให้เราได้เลือกดูมากมาย หลากหลายสไตล์ ตั้งแต่เรียบง่ายฆ่าเวลาได้ดี ไปถึงสร้างสรรค์แบบดูแล้วต้องร้องว้าวอย่างคาดไม่ถึง จนเผลอติดตามกลายเป็นแฟนคลับไปโดยไม่รู้ตัว นานวันเข้าเราอาจเกิดแรงบันดาลใจอยากผันตัวเองเป็น Creator ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์กับเขาบ้าง 

ครั้งแรกเราอาจอยากสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อเป็นงานอดิเรกสนองความสนุกสนานส่วนตัวแล้วอยากแบ่งปันให้คนอื่นดูบ้าง หรืออาจจะตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อหารายรับจากสิ่งที่ตัวเองชอบตั้งแต่แรกเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการเลือก Platform ให้เหมาะสมกับ Story หรือคอนเทนต์ของเราจึงมีส่วนสำคัญเช่นกัน มันคงแปลกแน่ๆ หาก เราคิดสร้างสรรค์นิยายในรูปแบบ E-Book แต่ไปลงใน Platform พวกวิดิโออย่างยูทูป หรือ ตัดต่อนั่งทำหนังสั้นเสร็จเรียบร้อยแต่ดันไปลงใน Platform ที่ไม่สนับสนุนคลิปวิดิโอ เป็นต้น วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับ “7 Platform สำหรับเหล่า Creator ที่มี Story อยากเล่า” จะมีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ

Platform ที่ 1 Meb E-Book

เริ่มต้นจาก Platform แรกเลยค่ะ ซึ่งคือ Meb หรือที่รู้จักกันในฐานะเจ้าของตลาดขายหนังสือรูปแบบ E-book ที่ใหญ่เป็นอันดับแรกของไทย เรียกว่าเรื่องไหนไม่มีที่นี่มีหมด โดย Platform นี้มีหนังสือหลากหลายประเภท ไม่ว่าเป็นนิยายประเภทต่างๆ การ์ตูน นิตยสาร หรือแม้แต่หนังสือเสียง โดยจะมีทั้งให้เปิดอ่านฟรี และเสียเงินซื้อในรูปแบบ E-book 

Platform นี้ยังมีระบบ Cloud ทำหน้าที่เหมือนชั้นหนังสือ จึงไม่ต้องห่วงเรื่องการเปลืองพื้นที่ความจำของสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เวลาไปไหนมาไหน ไม่จำเป็นต้องพกหนังสือแบบรูปเล่มไปเยอะๆ อีกแล้ว

เอ่ยมาถึงขนาดนี้ ทุกคนคงรู้แล้วใช่ไหมคะว่า Platform นี้เหมาะสมกับใครเอ่ย?

ใช่แล้วค่ะ Platform นี้เหมาะกับ Creator สายเขียนที่ชอบสร้างเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าเป็นนิยายหรือการ์ตูน แล้วอยากรวมเป็นรูปเล่มขายแต่ยังไม่มีเงินพอจ้างโรงพิมพ์ ดังนั้นเราขอแนะนำให้วางขาย Platform นี้เลยค่ะ ซึ่งมีส่วนแบ่งจากการขายให้เราด้วยน้า

โดยที่หากมีคนซื้อหนังสือของเราผ่านทางระบบ Apple iOS จะเสียค่าบริการผ่านระบบ 30% อีก 70% ทาง Platform และ Creator จะนำมาแบ่งกัน โดยเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว เราจะได้รับจริงๆ ประมาณ 56% ของยอดขายค่ะ 

หรือหากมีคนมาซื้อหนังสือผ่านช่องทางอื่นจะมีการเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 3.5-4% จากนั้นเหลืออีก 96% ทาง Platform และ Creator จะนำมาแบ่งกัน ซึ่งจะได้รับจริงๆ ประมาณ 67% ของยอดขาย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วใครมีนิยายหรือการ์ตูนเขียนจบและทำเป็นไฟล์เล่มรอส่งโรงพิมพ์เก็บไว้อยู่ เกิดสนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.mebmarket.com/?action=agreement&agreement_type_id=5 เลยค่ะ

Platform ที่ 2 readAwrite

เรามั่นใจว่าเพื่อนหลายคนคงรู้จักกับ Platform นี้อย่างแน่นอน เพราะเขาเป็นเจ้าของเดียวกับ meb เว็บไซต์ที่ขาย E-Book รายใหญ่อันดับแรกของประเทศไทยนั่นเอง แต่ Platform จะไม่ได้ขาย E-Book แต่จะเป็นพื้นที่ที่รวบรวมนิยายรายตอนแบบธรรมดา กับ นิยายแชท รวมถึงการ์ตูนเอาไว้ และมีให้เลือกอ่านได้หลากหลายแนว ซึ่งมีทั้งเปิดให้อ่านฟรี หรือแลกเหรียญเข้าไปอ่านรายตอน รวมถึงยังมีระบบ Donate เปิดโอกาสให้นักอ่านสามารถเปย์ Creator สายเขียนที่รักได้โดยไม่ผ่านระบบซื้อเหรียญ แต่ Creator คนนั้นต้องเป็นสมาชิกของ meb เสียก่อนนะคะ

ดังนั้น Creator สายเขียน ผู้สร้างสรรค์การปั้นอากาศให้เป็นเรื่องราวได้อย่างลื่นไหล ขอแนะนำ Platform นี้เลยค่ะ เพราะที่ readAwrite สร้างระบบต่างๆ เพื่อเอาใจ Creator สายนี้ให้ทำงานสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าเป็นระบบตรวจหาคำผิด, ระบบการเว้นวรรคตัวอักษร, การเซฟผลงานของ Creator ให้อัตโนมัติ หรือระบบตั้งเวลาล่วงหน้าที่ทำให้ Creator สามารถเลือกลงผลงานได้ตามเวลาที่ต้องการ นอกจากนั้นหาก Creator สายเขียนเขียนเรื่องจบแล้ว ยังสามารถนำมารวมขายเป็นนิยายในรูปแบบ E-Book ได้อีกด้วย 

ในส่วนรายรับ readAwrite จะหักค่าใช้จ่ายของ Platform ประมาณ 30% และแบ่งให้กับ Creator ประมาณ 70% หรือหากมีนักอ่านเปย์ผ่านระบบโดเนท Creator จะได้ส่วนแบ่งประมาณ 90% หักค่าใช้จ่ายของ Platform ประมาณ 10% หากใครสนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.readawrite.com/?action=agreement_of_payment เลยค่ะ

Platform ที่ 3 DekD

นับได้ว่าเป็น Platform ที่มีอายุยาวนานมากที่สุด และหลายคนต้องรู้จักอย่างแน่นอน เพราะถูกก่อตั้งในปี 2542 จึงสามารถเรียกได้ว่าเป็นคลังนิยายออนไลน์ที่มีนิยายมากที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว โดย Platform นี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็น Community สำหรับวัยรุ่น เป็นแหล่งรวมตัว พบปะพูดคุยของวัยรุ่น วัยมัธยมฯ จนถึงระดับมหาวิทยาลัย โดยมีการให้บริการโดดเด่นหลายด้าน ได้แก่ เว็บบอร์ด บล็อก หรือแม้แต่ “Writer ชุมชนนักเขียน” ที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นสามารถนำเสนองานเขียนนิยายประเภทต่างๆ รวมถึงแฟนฟิกของตนเอง ทำให้มีทั้งฐานคนอ่านและผู้ติดตามจำนวนมาก รวมถึงมี Creator สายเขียนที่เคยแจ้งเกิดจาก Platform นี้ และโด่งดังจนเป็นที่รู้จักกันอยู่หลายคน

ดังนั้น Platform นี้ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ให้ Creator หน้าใหม่หัดเขียนหัดแต่งนิยายและอยากลองสนาม อยากสร้างฐานแฟนคลับให้มีคนรู้จักกับผลงานของเรา สามารถเลือก Platform นี้ดูก่อนได้เลยค่ะ ไม่แน่นะว่านิยายที่เรากำลังเขียนอยู่เกิดถูกใจสำนักพิมพ์บางสำนักพิมพ์แล้วมาชวนให้กลายเป็นนักเขียนมืออาชีพจากนั้นต่อยอดจนสร้างเป็นละครเลยก็ได้น้า 

แต่ถึงไม่ถูกชวนก็ไม่เป็นไร เพราะ Platform นี้ ได้เปิดระบบให้เราสามารถขายนิยายของตัวเองเป็นแบบรายตอน หรือเป็นแบบแพคเกจอีกด้วย โดยจะคิดส่วนแบ่งเป็นประมาณ 72% ของ Platform 28% หาก Creator คนไหนสนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.dek-d.com/writer/52292/?fbclid=IwAR0H3nawd1bn670fWic7aUOsc0FLvqtG402Pckbh9P1lLN4sjUypgVVdA1w เลยนะคะ

Platform ที่ 4 Kawebook

Kawebook เป็น Platform ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของ Creator ที่รักในงานเขียนและกลุ่มคนรักการอ่านจึงทำให้มีนิยายมากมา เช่น ไลท์โนเวล นิยายแปล นิยายสืบสวน นิยายแฟนตาซี หรือนิยายรักหวานแหวน รวมถึงนิยายแนว Boy’s Love นอกจากนี้ใน Kawebook ยังมีวิธีการให้เลือกอ่านนิยาย 2 แบบ คือ การซื้อนิยายเก็บในรูปแบบ E-book และแบบรายตอนที่เรียกว่าเป็นพื้นที่สำหรับ Creator สายเขียนนิยายอย่างพวกเรา 

เพราะนอกจากสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาแล้วเรายังพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับเพื่อนสมาชิกคนอื่น ๆ หรือกับนักอ่านได้อีกด้วย แม้ฟังดูเหมือนกับ Platform อื่นๆ แต่ที่เด็ดสุดคือรายรับของเหล่า Creator จะได้หลังจากการหักค่าใช้จ่ายของ Platform สูงถึง 71% เลยทีเดียว หาก Creator สายเขียนสนใจอยากลงสนามนี้สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.kawebook.com/howto/view/9 เลยนะคะ 

Platform ที่ 5 comico

ต่อไปเราจะพา Creator สายชอบวาดรูป เขียนการ์ตูนแต่งเป็นเรื่องราว มารู้จักกับ Platform ด้านนี้เลยค่ะ โดยจะขอเริ่มจาก…

comico เป็น Platform สำหรับอ่านการ์ตูนออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เปิดตัวครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นปี 2556 จุดเด่นของ Platform นี้อยู่ที่การคัดสรรเนื้อหาสนุกเข้มข้นและลายเส้นสวยงาม แยกหมวดหมู่ชัดเจน ปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีทั้งการ์ตูนและนิยาย โดยสายการ์ตูนแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ Webcomic (เว็บคอมมิก), Ecomic (อีคอมมิก), Challenge (ชาเลนจ์) และนิยายอีก 2 ประเภท ได้แก่ Webnovel (เว็บโนเวล), Enovel (อีโนเวล) ค่ะ

แม้ Platform นี้จะเน้นไปทางการ์ตูนต่างประเทศสัญชาติญี่ปุ่นกับเกาหลี แต่ Creator คนไทยที่ชื่นชอบการวาดรูปเขียนการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ เราก็สามารถเลือกลงได้เช่นกันค่ะ โดยจะต้องอยู่ในหมวด Challenge ที่เปิดโอกาสให้เหล่า Creator หน้าใหม่มาประชันฟาดฟันฝีมือกันค่ะ 

ซึ่งขั้นตอนการหารายรับจาก Platform นี้ Creator สายวาดอาจจะยากนิดหนึ่งนะคะ 

อย่างที่บอกไปแล้วว่าจะต้องลงผลงานใน Challenge ไม่ก็ส่งผลงานไปที่ comicoth@nhnent.com หรือเข้าประกวด comico challenge ที่มักมีการประกวดอยู่เรื่อยๆ โดยผลงานของ Creator คนไหนเข้าตาเหล่ากรรมการ จะสามารถได้เป็นนักเขียนประจำของทาง comico หรือไปอ่านรายละเอียดที่ https://www.comico.in.th/support/faq นะคะ

Platform ที่ 6 Line Webtoon 

Line Webtoon เป็นอีกหนึ่ง Platform อ่านการ์ตูนออนไลน์ที่พัฒนาโดย LINE ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และมีการ์ตูนหลากหลายเรื่องที่ถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ที่เพื่อนๆ ต้องเคยดูผ่านตามาบ้างแล้ว นอกจากนั้น Line Webtoon ยังมีการแบ่งหมวดหมู่ต่างๆ เช่น แนวรักโรแมนติก ดราม่า, แอ็กชัน, แฟนตาซี และอื่น ๆ อีกมากมาย 

การ์ตูนหลักของ Line Webtoon ส่วนใหญ่จะแปลมาจากนักเขียนของประเทศเกาหลีใต้ แต่ในปัจจุบันเราก็เริ่มเห็น Creator สายวาดฝีมือคนไทยบางคนลงใน Platform นี้ด้วยนะคะ

และในส่วน Creator มือใหม่ที่รักในการวาดการ์ตูนและอยากวาดการ์ตูนลงใน Platform นี้ ก็สามารถลงได้เช่นกัน โดยจะต้องเลือกลงในหมวด Canvas ซึ่งเป็นพื้นที่คล้ายๆ กับการให้เหล่า Creator มาประชันฝีมือกัน (อีกแล้ว) หากผลงานของใครได้รับความนิยม ก็จะได้รับการสนับสนุนให้ไปอยู่ในหน้าหลักของ Platform และได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักเขียนประจำอีกด้วย จึงจะสามารถได้ค่าตอบแทน เรียกได้ว่ามีการแข่งขันกันสูงมากเลยทีเดียว เพราะนอกจากเนื้อเรื่องต้องสนุกถูกใจนักอ่านแล้ว ยังต้องเข้าตาเหล่าทีมงานอีก ซึ่งหากผ่านมาได้จริงๆ เราต้องบอกว่า Creator คนนั้นช่างแข็งแกร่งยิ่งนัก หากสนใจ สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://www.webtoons.com/th/terms/canvasPolicy นะคะ

Platform ที่ 7 YouTube

มาถึง Platform สุดท้ายในหัวข้อนี้ ซึ่งก็คือ YouTube (ยูทูป) Platform สำหรับเหล่า Creator ผู้ชื่นชอบการสร้างหนังสั้น หรือการตัดต่อคลิปวิดิโอถ่ายทอดเรื่องราวนั่นเอง 

สำหรับ Platform นี้ นับได้ว่ามีจำนวนมากกว่าล้านคลิป (และยังเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ) แถมยังให้บริการฟรี (แม้จะมีโฆษณาแทรกอยู่บ่อยๆ) มีให้พวกเราเลือกหลากหลายหมวด ไม่ว่าจะเป็น สารคดี กีฬา ภาพยนตร์ การ์ตูน รายการทีวี/วีดีโอเพลง เป็นต้น และเป็นที่นิยมของคนทุกเพศทุกวัย จึงทำให้มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 2,000 ล้านคน และมีผู้เข้าชมคลิปมากกว่าหนึ่งล้านชั่วโมงในหนึ่งวันหรือ มากกว่า 1,000 ล้านครั้งต่อเดือน 

นอกจากจะมีคลิปให้เลือกดูมากมายแล้ว ยูทูปยังเป็นอีก Platform ที่สนับสนุนเหล่า Creator หรือที่นิยมเรียกว่า “YouTuber (ยูทูปเบอร์)” ให้มาสร้าง Channel โดยเปิดโอกาสให้สร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่อีกด้วย ขอเพียงไม่ขัดกับกฎที่วางเอาไว้ สำหรับในส่วนรายรับของการ Platform นี้ จะขึ้นอยู่กับรายละเอียดต่างๆ เช่น จำนวนยอดวิวของวิดีโอ, จำนวนคลิกโฆษณา, คุณภาพของโฆษณา หรือ ความยาวของวิดีโอ เป็นต้น ทำให้รายได้ไม่แน่นอน หาก Creator คนไหนสนใจอยากเป็น YouTuber กับเขาละก็ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/intl/th/creators/welcome-creators/ เลยนะคะ 

ก็จบไปแล้วกับ “7 Platform สำหรับ Creator ที่มี Story อยากเล่า” ในความจริงยังมี Platform อื่นๆ อีกเยอะแยะ ที่ยังไม่ได้พูดถึง และแม้เราจะบอกไปตั้งแต่แรกว่า “Platform มีความสำคัญในการโปรโมทผลงาน” แต่ความจริงยังมีสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญสำหรับ Creator อีกนะคะ นั่นคือ “ความต่อเนื่อง” ในการลง Story ให้คนอื่นๆ เห็นอยู่เป็นประจำเพื่อให้กลายเป็นแฟนคลับ รวมถึง “ความคิดสร้างสรรค์คอนเทนต์ ที่จะต้องมีพล็อตเรื่องน่าสนใจ การดำเนินเรื่องน่าติดตาม ความสดใหม่ของการนำเสนออีกด้วย” 

เพื่อนๆ ลองคิดดูนะคะ หากเหล่า Creator สายหนังสั้นทุกคน ต่างคิดสร้างคอนเทนต์เหมือนกันว่า “ความจริงแล้วฉันเป็นประธานบริษัท…” ออกมาเหมือนกันทั้งหมดราวกับกดปุ่มก๊อปปี้และกดปุ่มวาง แน่นอนคนดูย่อมเบื่อหน่าย พากันส่ายหน้าหนี แต่หากจู่ๆ เราผู้ Creator หนังสั้นเกิดคิดแหวกไปว่า “ความจริงแล้วฉันคือ…หัวหน้าโจร เอาละ! ช่วงนี้ข้าวของก็แพงอยู่ด้วย จงส่งของมีค่ามาให้หมด” นั่นจะทำให้คนดูย่อมคิดว่า เอาแบบนี้เลยเรอะ? เห็นไหมคะ ความแตกต่างเป็นจุดเด่นของเราเสียแล้ว 

สุดท้ายนี้หาก Creator ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นคิด Story แบบไหนดี เรามีตัวช่วยเริ่มต้นมาแนะนำนั่นคือ Story Tools ตัวช่วยสำหรับเหล่านัก Creator ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสายนักวาดการ์ตูน นักเขียนนิยาย หรือ สายทำหนังสั้นอย่างยูทูปเบอร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เดินไปในกระบวนการสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้ค่ะ สามารถทดลองใช้ฟรีได้ที่ https://storybowl.co/tools สำหรับวันนี้เราไปก่อนนะคะ

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *