เปิดหัวข้อกันมาคราวนี้ ด้วยการกล่าวถึงเรื่องของการเขียนแบบ Plot twist หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “พลอตหักมุม” นั่นเอง
แค่นึกพลอตหักมุมขึ้นมา ก็มีหนังหลายๆ เรื่องที่เราเคยดูผุดขึ้นมาในหัวได้เลยใช่ไหมคะ เพราะจริงๆ แล้วการทำพลอตหักมุมมันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในวงการภาพยนตร์ แต่ความน่าสนใจของมันก็คือ พลอตหักมุมจะออกมาดี ผู้สร้างสตอรี่มักจะต้องหาความสดใหม่จากการหักมุม หักความรู้สึกของคนดูให้อยู่หมัดอยู่เสมอ มันคือการสร้างเรื่องที่ไม่ต้องการให้เราเดาทางได้ตั้งแต่ต้น เพราะการไม่รู้ หรือคำตอบไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ นั่นคือจุดที่ทำให้หนังหักมุมสนุกมากที่สุด
พลอตหักมุมคืออะไร?
มันก็คือการสร้างพลอตที่ทำให้คนอ่านหรือดูเข้าใจแบบหนึ่ง แต่แล้วก็มีจุดหักที่ทำให้เรื่องราวแตกต่างจากที่เราเข้าใจไปโดยสิ้นเชิง ถึงขนาดที่กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันไป โดยที่เรื่องราวตั้งแต่ต้นมา อาจจะซ่อนอะไรไว้มากมายให้เราไขว้เขวจนตามไม่ทัน เข้าใจผิด แม้กระทั่งกระชากอารมณ์ให้เปลี่ยนไปอีกแบบเลยก็ได้ ยิ่งทำให้คนไม่รู้เท่าไร ยิ่งทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนและตกตะลึงกับการโดนหลอกเท่านั้น
ยกตัวอย่างด้วยหนังหักมุมคลาสสิกตลอดกาล อย่าง
Six sense
นี่คือหนัง พลอตหักมุม ยุคแรกๆ ที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุด โดยเนื้องเรื่องได้เล่าถึง มัลคอล์ม โคร์ว จิตแพทย์เด็กชื่อดังที่ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ หนึ่งปีต่อมา เขากลับมาทำงานและได้พบ โคล เซียร์ เด็กชายวัย 9 ขวบและแม่ของเขา โคลมีพฤติกรรมประหลาด ชอบเก็บตัวและหวาดกลัวอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้เกิดวลีเด็ดของหนังตลอดกาลอย่าง “I see dead people” ที่พาคนดูหลอนไปกับผีที่โคลเห็นทั้งเรื่อง
สปอยล์ละนะทุกคน
แต่จุดที่หักมุมที่สุดก็คือ หนังเล่าเราเข้าใจมาตลอดว่า มัลคอล์มถูกแม่ของโคลจ้างมารักษาอาการและพยายามช่วยอย่างเต็มที่ แท้จริงแล้ว เขาตายไปตั้งต้นเรื่องและไม่รู้เลยว่าตัวเขาเองก็เป็นผีที่โคลเห็นคนเดียว และนั่นคือการเล่าหลอกล่ออย่างมีชั้นเชิงจนทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นที่ฮือฮาสุดๆ ในยุคนั้น
พลอตหักมุมนั้นมีอยู่สามแบบหลักๆ คือ
Plot twist คือ หักมุมจากพลอตเรื่อง คือ เรื่องเล่ามาเรื่อยๆ อย่างนึงแต่พอเฉลยกลับเป็นอีกอย่าง หักความเข้าใจของเรา ซ่อนสิ่งที่เป็นความจริงให้คาดไม่ถึง ส่วนใหญ่วิธีนี้หากทำสำเร็จ จะรู้สึกว้าวสำหรับคนดูมากๆ ตัวอย่าง ก็ดังเช่นเรื่อง six sense ที่อธิบายไปก่อนหน้านี้
Saw, Gone girl ซีรีย์เกาหลีสุดหักมุมอย่าง mouse หรือหนังไทยอย่างเรื่อง บอดี้ศพ 19
Ending Twist คือ หักมุมในตอนท้าย คือ เนื้อเรื่องจะดำเนินพลอตในแบบที่สร้างทางให้เราคาดเดาไว้แล้วบ้าง แต่มาพลิกเฉลยในตอนท้ายให้เรารู้สึกโดนหักหลังหรือคาดไม่ถึงตรงนั้น
หลักๆ ที่ทำให้เข้าใจวิธีการนี้แบบง่ายๆ ก็คือ หนังหรือนิยายที่ตั้งคำถามกับเรามาตลอดเรื่องว่า “ใครคือคนร้ายตัวจริง” ยกตัวอย่างเช่น หนังภาคต่อที่ฮิตมาตั้งแต่ยุค 90 อย่าง Scream หนังที่ตัวเอกน่าสนใจมากๆ อย่าง ready or not หรือซีรี่ย์ไตรภาค Fear Street ของ Netflix
Surprise Ending หักมุมในตอนจบไม่ทันตั้งตัว หักมุมในตอนท้ายโดยไม่ได้มีผลเปลี่ยนอะไรกับเนื้อเรื่องก่อนหน้า แต่อยู่ๆ อยากหักขึ้นมาเสียอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวละครหลักทิ้งในตอนจบ หรือสร้างเหตุการณ์ให้กลับดีเป็นร้าย กลับร้ายเป็นดี สิ่งเหล่านี้ผู้อ่านหรือผู้ชมไม่ทันได้ตั้งตัวเตรียมใจมาพบ แน่นอนว่าการเล่นกับจิตใจขนาดนี้ มันจึงเป็นวิธีหักมุมที่อาจจะให้ผลดีมากๆ หรือผลเสียอย่างที่สุดก็ได้และหลายครั้งผู้สร้างก็ยอมแลกเพื่อให้ได้รับความตกตะลึงจากคนดู แม้จะมีทั้งชื่นชมและต่อต้านก็ตาม
ตัวอย่างหนังแนวนี้ ก็ได้แก่ The mist , Buried
Genre ไหนที่จะสร้างพลอตหักมุมได้บ้าง
ด้วยความรู้สึกของพลอตหักมุมนั้นค่อนข้างจะบีบหัวใจคนดูมาก จึงสังเกตได้ว่าพลอตหักมุมมักจะพ่วงมากับหนังแนว Thriller ที่มีความระทึกใจ หนัง Horror ไปจนถึงแนวสืบสวนสอบสวน เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าหนังแนวอื่นจะทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะที่จริงแล้วการหักมุมนั้นมีไว้เล่นกับความรู้สึกคนรับชมมากกว่าความระทึกใจของหนัง มันจึงไม่จำเป็นต้องเล่นกับความกลัวเท่านั้น จะใช้ ความรัก ความเศร้า ความผิดหวัง หรือความสุข มาหักมุมก็ย่อมได้
ตัวอย่างเช่น หนังรักของเกาหลีเรื่อง The classic ที่เล่าเรื่องราวของหญิงสาวผู้เปิดจดหมายอ่านความรักของพ่อแม่ในอดีต สุดท้าย เรื่องก็ยังมีพลอตหักมุมว่าใครคือพ่อและแม่ให้เราแปลกใจได้เช่นกัน
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า พลอตหักมุม สามารถเกิดได้กับทุกๆ Genre ยิ่งเรื่องราวการสร้างสตอรี่ยุคนี้มีความผสมผสานกันหลากหลายแนวมากขึ้น การหักมุมจึงถูกนำมาใช้ได้เสมอ
เคล็ดลับง่ายๆ ในการสร้างพลอตหักมุม
เมื่อเราเห็นภาพของการใช้พลอตหักมุมแล้ว ทีนี้พี่วาฬน้ำเงินก็มีแนวทางง่ายๆ มาให้ทุกคนได้ลองนำไปเป็นเคล็ดลับกันนะคะ โดยเราจะเริ่มคิดพลอตหักมุมด้วย 4 คำนี้
สด – ง่าย – เกี่ยว – ทึ่ง
จริงๆ แล้ว สี่คำนี้เป็นสิ่งที่นักสร้างสตอรี่ต้องใช้เสมอ เพื่อให้เรื่องนั้นๆ มีเสน่ห์ ยิ่งพอเราจะทำพลอตหักมุมเรายิ่งต้องทำความเข้าใจกับมัน และเอามาคิดเป็นแนวทางเพื่อให้พลอตเรามีความเป็นไปได้ว่าจะสำเร็จแม้จะมีหนังหักมุมออกมามากมายก็ตาม
สด คือ พลอตหักมุมจะต้องมีความใหม่ มีความไม่เคยเห็นมาก่อน สังเกตว่า เมื่อพลอตหักมุมอย่าง six sense ประสบความสำเร็จไปแล้ว ใครที่เดินตามรอยมาก็มักจะถูกมองว่าซ้ำหรือเชย ถูกเดาได้ง่าย การหยิบเรื่องมาเล่าจึงต้องคิดว่าสิ่งนี้เคยถูกเล่าแล้วหรือยัง หากเคยแล้ว มันประสบความสำเร็จหรือไม่ หากคล้ายกัน เราจะนำเสนออย่างไรให้รู้สึกว่ายังสดอยู่ได้ จะเปลี่ยนวิธีเล่าไหม? สิ่งนี้จึงสำคัญมากกับการทำพลอตหักมุม
“จงอย่าทำซ้ำในสิ่งที่เป็นตำนานไปแล้ว”
ง่าย หมายถึง การเล่าให้ง่าย เล่าให้ความซับซ้อนที่เราวางไว้นั้นย่อยง่ายสำหรับคนอ่านและคนดูในท้ายที่สุด มีความสมเหตุสมผล หลายครั้ง การทำพลอตหักมุมเรามักจะเล่นท่ายาก คิดไปเยอะ แล้วพอเล่าออกมา ก็อาจจะสื่อสารออกมายากจนคนไม่เข้าใจ พาลทำให้คิดว่าเรื่องของเราไม่สนุกไปเสียอย่างนั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพลอตหักมุมไม่ซับซ้อน มันซับซ้อนได้ คุณจะหลอกมากเท่าไรก็ได้
แต่ในตอนเฉลยออกมานั้น ต้องทำให้คนรับชม เข้าใจ “ง่าย” กับการอธิบายเรื่องราวทั้งหมดว่ามันสมเหตุผลมากเพียงใด
เกี่ยว คำว่าเกี่ยว คือ ความรู้สึกเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับคนดูหรือคนอ่านที่เป็นเป้าหมายของเรา มีความเชื่อมโยงบางอย่างที่จะทำให้พวกเขาอินได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น หากกลุ่มเป้าหมายของเราเป็นวัยรุ่น เนื้อเรื่องพลอตหักมุมของเราก็อาจจะมีการเล่าถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องชีวิตวัยรุ่น มีการหยิบยกปัญหาที่พวกเขาเข้าใจ เช่น การถูกบูลลี่ การอยากมีชีวิตที่ดีเหมือนเพื่อนที่โดดเด่น
อะไรก็ตามที่เกี่ยวได้ ย่อมได้ความเข้าใจจากคนดูมากขึ้น
ทึ่ง ตรงนี้สำคัญมากกับพลอตหักมุม มันคือจังหวะที่ทำให้คนดูหรืออ่าน ตาค้าง ใจเต้น ร้องว้าวในใจ หรือบางทีก็ร้องดังๆ ออกมากับสิ่งที่เราได้นำเสนอไป ความทึ่งนั้นแปลว่าเราทำสำเร็จ ทำให้คนเก็บเอาไปคิดว่าตัวเองพลาดอะไรจึงจับไม่ได้ หรือทำให้คนประหลาดใจในการหักของเรื่องช่วงท้ายในแบบที่ขัดใจคนดู(แต่ดี)
จังหวะที่ “ว้าว” นั่นคือ เราประสบความสำเร็จกับการหักมุม
อีกหนึ่งเคล็ดลับ กับรูปแบบการสร้างแบบ พลอตจริง : พลอตหลอก
เมื่อเราได้พลอตในแบบที่ต้องการ ให้เขียนพลอตที่จริงแบบเส้นตรงก่อนจนได้พลอตที่เราต้องการมา
แล้วหยุด … อย่าเพิ่งไปต่อ ให้เราแตกเนื้อหาเป็นสิ่งที่เราต้องการหลอก จะหลอกอะไร จะซ่อนอะไร จังหวะไหนเหมาะที่สุด
เขียนซ้อนลงไปในนั้นให้เราเห็นมุมมอง โดยอย่าลืมว่าแม้ว่าเราจะหลอกอะไรไป สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างต้องมีคำตอบเดียวที่จริงมากพอจะทำให้คนอ่านเชื่อได้มากที่สุด จากนั้นเราก็จะได้พลอตหักมุมที่เตรียมพร้อมจะขยายเรื่องในขั้นตอนต่อไปแล้วค่ะ
Tips การทำเป็นเส้นตรงตามความจริงก่อนแล้วค่อยเพิ่มความลวง จะทำให้เราเห็นมิติของสตอรี่ แต่หลายครั้งที่ความคิดหรือไอเดียของเราซับซ้อนกว่านั้น บางคนคิดวิธีหลอกล่อได้ก่อน ก็ให้เขียนไว้ได้เลย
และนี่ก็เป็นวิธีคิดง่ายๆ ที่จะช่วยให้เราได้พลอตหักมุมออกมา ซึ่งในที่นี้เราสามารถใช้ Tools ของ Storybowl ช่วยในการเรียบเรียงได้ดีขึ้น เติมเต็มก่อนลงมือเขียนจริง พี่วาฬน้ำเงินขอแนะนำให้ไปลองศึกษาใช้กันนะคะ ช่วยประหยัดเวลาและกันหลงลืมได้เยอะเลย
ยังไงก็ลองเอาเคล็ดลับขั้นต้นเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ แล้วเจอกันในบทความถัดไปค่ะ บ๊ะบาย