วันนี้คุณสนใจอยากเรียนเรื่องอะไร...

7 เรื่อง…อย่าหาทำในขั้นตอนการคิดพลอต

           เชื่อว่าเพื่อนนักเขียนหลายคนจะต้องกำลังประสบพบเจอกับปัญหาระหว่างเขียนเรื่องของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น “เรื่องที่เขียนอยู่เกิดอาการออกสู่ทะเลจนหาทางกลับเข้าฝั่งไม่เจอ” หรือ “บทตัวละครหลักหายสาบสูญกลายเป็นตัวละครอื่นมาดำเนินเรื่องแทน” หรือไม่ “สมองเกิดอาการตีบตันคิดซีนดำเนินเรื่องไม่ออก” ทั้งที่ตอนแรกก็คิด “พลอต” เอาไว้เรียบร้อยแล้วแท้ๆ

แต่เราลองมาทบทวนกันนิดหนึ่งก่อนว่า พลอตที่คิดนั้น “จบ” แล้วจริงๆ หรือเปล่า? หรือเรากำลังมองข้ามอะไรไปโดยไม่รู้ตัว? วันนี้เราลองมากางลิสต์เช็กดูกันหน่อยดีกว่าว่า การทำพลอตเรื่องของเราอยู่ใน “7 เรื่องอย่าหาทำในขั้นตอนการคิดพลอต” กันหรือเปล่า

1. อย่าเพิ่งชอบพลอตที่เขียนเสร็จครั้งแรก!

           นักเขียนหลายคนคงกำลังงงว่า อ้าว? ทำไมถึงต้องห้าม เพราะมันไม่แปลกที่เราจะชอบพลอตที่เราเขียน เดี๋ยวก่อนเรากำลังจะอธิบายต่อว่า “อย่าเพิ่งตกหลุมรัก” พลอตตัวเองตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำมันเสร็จต่างหาก เพราะหากเราหลงรักไปแล้ว ก็จะเผลอปักธงว่าพลอตนี้ดีแล้ว พลอตนี้สุดยอดสมบูรณ์แบบไปโดยไม่รู้ตัวต่างหาก

           เชื่อเลยว่านักเขียนหลายๆ ท่าน จะต้องเคยเจอสิ่งนี้โดยไม่รู้ตัว คือพอจัดการวางพลอตเรื่องของตัวเอง วางโครงเรื่องต้น กลาง จบ ออกแบบตัวละครหลัก ตัวละครรองเสร็จเรียบร้อยก็เริ่มลงมือเขียนทันที…โดยไม่ยอมย้อนกลับมาดูอีกครั้ง ซึ่งขอแนะนำให้ลองทิ้งพลอตหรือโครงเรื่องที่คิดจบแล้วไว้สัก 3 วัน เพียงพอให้สมองเราปลอดโปร่ง ทำจิตใจให้ว่างเรียบร้อย จากนั้นจึงลองนำพลอตกลับมานั่งอ่านใหม่ หรือไม่ก็ลองหาเพื่อนสนิทคนรู้ใจมาช่วยอ่านพลอตนี้ดูอีกครั้ง บางทีเราหรือเพื่อนสนิทอาจเจอช่องว่างที่เผลอมองข้ามไปแบบไม่รู้ตัวเลยก็ได้ และนั่นจะทำให้พลอตของเราสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

2. อย่าเปลี่ยนตัวละครหลักกลางทาง

           องค์ประกอบที่สำคัญของนิยาย นอกจากโลก ก็เป็นตัวละครหลักซึ่งจะพานักอ่านฝ่าฟันอุปสรรคจนไปถึงเป้าหมายของเรื่อง แต่มั่นใจว่านักเขียนหลายคนกำลังเผชิญ “ปัญหานี้” อยู่อย่างแน่นอน คือเวลาลงมือเขียนนิยายไปสักพักแล้วเกิดอาการปันใจให้กับตัวละครอื่นเสียอย่างนั้น และรู้สึกตัวอีกทีเจ้าตัวละครตัวนี้ก็เด่นเกินหน้าเกินตาตัวละครหลักของเรื่องไปเสียแล้ว แถมบทบาทตัวละครหลักยังจางหายกลายเป็นฝุ่นไปเสียเฉยๆ หากโดนนักอ่านแอบทักแชตเข้ามาถามว่า “พี่คะ ตกลงตัวละครหลักของเรื่องคือตัวไหนคะ?” แสดงว่าเรากำลังเผลอปันใจเปลี่ยนตัวเอกไปโดยไม่รู้ตัวเสียแล้ว

           วิธีแก้ไขเรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก นอกจากการย้อนกลับมาใส่ใจตัวละครเอกอีกครั้ง เราต้องอย่าลืมว่าเขาคือคาแรกเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ของ Theme และต้องไปให้ถึงเป้าหมายซึ่งถูกกำหนดไว้ในพลอตตั้งแต่แรก หากเผลอ “เปลี่ยน” หรือ “ลืม” ตัวละครเอกไว้กลางทางเมื่อไร มันอาจทำให้ Theme หรือเรื่องของเราเปลี่ยนเป็นคนละเรื่องเลยก็ได้ เพื่อนหลายคนอาจสงสัยงั้นขอยกตัวอย่างสักเรื่องนะ

           เช่น…นี่คือเรื่องราวของเจ้าชาย (ตัวละครหลัก) ที่ออกเดินทางไปช่วยเจ้าหญิงและปราบจอมมาร โดยมี Theme ของเรื่องคือ “ธรรมย่อมชนะอธรรม” แต่ขณะกำลังเขียน เราเกิดหลงรักคาแรกเตอร์ของจอมมารโดยไม่รู้ตัว จึงเพิ่มบทบาทเข้าไปเยอะๆ จนบทของเจ้าชายที่ควรเด่นกลับหายไป สุดท้าย Theme ที่ตั้งใจไว้ก็อาจกลายเป็น “ความรักที่ต่างชนชั้น” แล้วกลายเป็นเจ้าหญิงมาหลงรักกับจอมมาร นั่นอาจทำให้นักอ่านถึงกับต้องพลิกไปอ่านตอนแรกก่อนว่ากำลังอ่านเรื่องเดิมอยู่ใช่หรือเปล่านะ?

           เห็นไหมคะ แค่การเผลอเปลี่ยนตัวละครหลักเป็นอีกตัวถึงกับทำให้เรื่องเปลี่ยนไปมากแค่ไหน

3. อย่าหลงรักตัวละครหลักจนทำให้เขาไม่มีข้อเสีย

ข้อนี้เชื่อว่านักเขียนทุกคนต้องเป็นแน่นอน คือพอเวลาเราออกแบบตัวละครหลักซึ่งเป็นลูกรักเพื่อใช้ในนิยายเราก็มักเกิดอาการลำเอียงพยายามใส่ความสมบูรณ์แบบด้านต่างๆ เข้าไป ไม่ว่าเป็นสติปัญญา พละกำลัง ค่าเสน่ห์ ทุกอย่างเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าไม่มีข้อเสีย ซึ่งอยากเตือนไว้ก่อนนะว่าตัวละครหลักของเราอาจจะกลายเป็น แมรี่ ซู (Mary Sue หมายถึงตัวละครที่มีลักษณะหรือถูกสร้างขึ้นมาให้มีความสมบูรณ์แบบในทุกด้าน ไม่มีจุดอ่อน เป็นที่รักของทุกคน สามารถทำอะไรทุกอย่างสำเร็จอย่างง่ายดาย มีที่มาจากตัวละครในแฟนฟิคของแฟนฟิคจากเรื่อง StarTrek ในปี 1970)

แรกๆ นักอ่านอาจจะรู้สึกสนุกไปกับซีนที่เราใส่ไปเพื่อให้ตัวละครหลักโชว์ความเก่งกาจ แต่พอดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ความหวือหวาก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกเฉยๆ เปลี่ยนเป็นความสงสัยและกลายเป็นเบื่อไปในที่สุด นั่นเพราะทุกอย่างมันดูง่ายไปเสียทั้งหมด จนแทบไม่ต้องเอาใจช่วย

เพื่อนๆ ลองดูนะระหว่าง “การเดินทางไปช่วยเจ้าหญิงจากจอมมาร ซึ่งระหว่างทางเจ้าชายก็โชว์เทพกำจัดบรรดาลูกสมุนรวมถึงจอมมารเสร็จลงอย่างง่ายดาย” กับ “การเดินทางไปช่วยเจ้าหญิงจากจอมมาร ซึ่งระหว่างทางเจ้าชายจะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ มากมาย กว่าจะจัดการลูกสมุนของจอมมารลงได้สักตัวหนึ่ง ต้องสู้แล้วสู้อีก” เทียบกันแล้วจะรู้เลยว่าแบบหลังนักอ่านจะรู้สึกสนุกตื่นเต้นไปกับแบบที่สองเพราะทั้งลุ้นเอาใจช่วยและเห็นพัฒนาของตัวละครหลักมากกว่า

           เห็นไหมคะการสร้างตัวละครหลักให้มีความสมบูรณ์แบบมากไปนอกจากจะทำให้เรื่องไม่สนุกขาดความตื่นเต้นแล้ว บางครั้งอาจทำให้ตัวละครหลักที่ควรเด่นกลับแบนและขาดความน่าสนใจจนกลายเป็นตัวประกอบไปก็ได้น้า และเราอยากบอกว่าบางครั้งข้อเสียของคาแรกเตอร์ก็สามารถเป็นเสน่ห์และความน่าสนใจได้เช่นกัน ลองคิดดูสิหากเจ้าชายผู้ที่เก่งกาจทุกด้านกลับมีจุดอ่อนเรื่องดาบและกลัวของมีคมรวมถึงเลือด? แล้วงานนี้จะปราบจอมมารอย่างไร

4. อย่าให้ตัวละครพบทางออกด้วยความบังเอิญ

           อืม…เวลาเขียนฉากถึงตัวละครหลักที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา แล้วเกิดคิดไม่ออกว่าจะให้ทำอย่างไรดี อะ! งั้นเอาเป็นบังเอิญเจอวิธีแก้ปัญหานี้แล้วกัน…ใครเป็นแบบนี้บ้างยกมือขึ้น ฮันแน่! เชื่อว่าทุกคนต้องเป็นกันเยอะแน่นอนค่ะ

ก่อนลงมือเขียนนิยาย เราจะต้องมี “เป้าหมาย” เพื่อให้ตัวละครหลักไปให้ถึง แต่เป้าหมายจะต้องมี ‘ปัญหาและอุปสรรค’ คอยขัดขวางเพื่อไม่ให้ไปถึงง่ายๆ ยิ่งปัญหาและอุปสรรคนั้นยากมากเท่าไร เวลาตัวละครหลักใช้วิธีฝ่าฟันไปได้ พวกเขาก็จะเติบโตและแข็งแกร่งขึ้น ดังนั้นหากนักเขียนเกิดหาวิธีผ่านปัญหาและอุปสรรคโดยใช้ “ความบังเอิญ” หรือ “ฟลุค” ทั้งเรื่อง เช่น จู่ๆ เจ้าชายบังเอิญเจอหนทางไปช่วยเจ้าหญิง, เจ้าชายบังเอิญพบวิธีการปราบสมุนจอมมาร หรือแม้แต่เจ้าชายบังเอิญเจออาวุธพิชิตจอมมารซึ่งถูกปักไว้ตรงหน้าปราสาทโดยไม่ต้องค้นหา นั่นคงทำให้นักอ่านไม่ต้องลุ้นระทึกหรือเอาใจช่วยตัวละครหลักแต่อย่างใด

ดังนั้นแนะนำว่าหลังจากเราสร้างปัญหาและอุปสรรคเสร็จแล้ว ลองสวมจิตวิญญาณเป็นตัวละครหลักตัวนั้นดูว่าหากเจอเหตุการณ์แบบนี้ เขาจะแก้ไขอย่างไร หรือไม่หากคิดไม่ออกลองปรึกษากับเพื่อนๆ คนรู้จักดู แต่ถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ขอเสนอว่าให้โยนปัญหาและอุปสรรคของเดิมทิ้ง จากนั้นลองคิดอันใหม่ขึ้นมาดีกว่า เชื่อเถอะว่าแรกๆ น่ะอาจจะยาก แต่เมื่อผ่านการขัดเกลา เชื่อว่าทุกอย่างจะง่ายขึ้นมาเอง และเผลอๆ มันจะกลายเป็นความสนุกกับการได้กลั่นแกล้งตัวละครหลักอีกด้วย

5. อย่าใส่ซีนที่ไม่ผลักเรื่องไปข้างหน้า

นอกจากตัวละครหลัก ปัญหาและอุปสรรค…Scene (ซีน) หรือฉาก เหตุการณ์ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นิยายของเราดำเนินเรื่องไปข้างหน้าตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นเวลาเขียนๆ อยู่ สมองเราก็เริ่มจะฟุ้งไปเรื่อย นึกซีนนั้นดี ซีนนี้สนุก ซีนโน้นก็ชอบ ซี้นนู้นก็ตัดใจทิ้งไม่ได้เลย…งั้นใส่ทุกซีนลงไปในเรื่องเลยดีกว่า

เดี๋ยวๆ ขอเบรกเพื่อนนักเขียนก่อนว่าอย่าทำเด็ดขาดเลยนะ แม้จะบอกว่าหน้าที่ของซีนคือการทำให้เรื่องราวนดำเนินไปข้างหน้า แต่ถ้าเราเกิดใส่ซีนไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่คิดให้ดีๆ ละก็…แทนที่เรื่องของเราจะไปต่อจนจบได้ กลับต้องวนเวียนอยู่จุดเดิม หรือไม่ก็ออกทะเลจนหาทางเข้าฝั่งไม่เจอ

คงสงสัยกันใช่ไหมเอ่ย ถ้าใส่ซีนแบบมั่วซั่วจะเป็นอย่างไร งั้นมาดูตัวอย่างกันเลย จะเป็นอย่างไร…เมื่อเจ้าชายที่กำลังเดินทางไปช่วยเจ้าหญิงจากจอมมาร ที่จู่ๆ เราเกิดนึกซีนอยากให้มีมนุษย์ต่างดาวมาเจรจากับเจ้าชาย ซีนเจ้าชายแสดงทักษะการทำอาหารราวกับการประกวดเชฟกระทะเหล็ก แน่นอนเราอาจสนุกกับการได้เขียน แต่นักอ่านจะเกิดความสงสัยว่าฉากพวกนี้่ใส่ไปทำไม มันเกี่ยวกับเนื้อเรื่องเหรอ? ทำไมไม่ใส่ซีนจำพวกการต่อสู้ผจญภัยของเจ้าชาย และหากเรามัวแต่ใส่ซีนประหลาดหลายๆ ซีน จนเนื้อเรื่องไปไม่ถึงไหนสักที นักอ่านก็คงเบื่อและเลิกอ่านเรื่องของเราไปเสียเฉยๆ

           ดังนั้นวิธีการแก้ไขนั้นง่ายนิดเดียว คือจัดการเรียบเรียงซีนต่างๆ ที่เราอยากเขียนไว้ตั้งแต่แรก ลองดูว่าซีนเหล่านั้นทำให้เนื้อเรื่องไปข้างหน้าได้หรือไม่ ถ้าซีนไหนทำให้เนื้อเรื่องไปข้างหน้าไม่ได้ก็จงตัดทิ้งไปอย่านึกเสียดาย เพราะบางซีนมันอาจจะไม่เหมาะกับเรื่องของเราจริงๆ ก็ได้

6. อย่าเปลี่ยนแนวเรื่องจนคนอ่านหัวทิ่ม

           Genre (ฌอง) คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศส ใช้เรียกชนิดของนิยาย ละคร ภาพยนตร์ ซึ่งมันจะปรากฏในงานเขียนของเราว่าเรากำลังเขียนแนวไหนอยู่ และนักอ่านที่ชอบแนวนั้นก็จะกดเข้ามาอ่าน แต่ถ้ายังไม่ใช่แนวที่ชอบก็อาจจะกดข้ามไปก่อน

แต่…เคยไหม? กำลังเขียนนิยายแนวนี้อยู่ดีๆ พอดำเนินเรื่องกลับกลายเป็นแนวอื่นเสียแบบนั้น เช่นกำลังเขียนแนวแฟนตาซีแอคชันผจญภัยของเจ้าชายที่เดินทางช่วยเจ้าหญิงจากจอมมาร พอเขียนไปเรื่อย ๆ กลับกลายเป็นแนวดรามาสู้ชีวิต เรียกน้ำตาของนักอ่าน  บ้านเมืองเจ้าชายถูกก่อกบฏจากขุนนางโฉด พ่อแม่ถูกฆ่าตายต้องกลับไปกอบกู้เมืองตัวเอง ส่วนเจ้าหญิงเกิดอาการรักแท้แพ้ใกล้ชิด หลงรักจอมมารเสียแบบนั้น อาการเปลี่ยนแนวเรื่องจนคนอ่านหัวทิ่มแบบนี้พวกเขาย่อมยอมรับไม่ได้ถูกไหมเอ่ย

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้แนวเรื่องของเราเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือแบบนี้เป็นเพราะซีนที่เราบังเอิญใส่เข้าไปแล้วมีผลกระทบต่อเนื้อเรื่อง แทนที่เรื่องราวจะดำเนินไปข้างหน้า กลับเลี้ยวขวาเป็นแนวอื่นเสียแบบนั้น ซึ่งการแก้ไขมันคือเราจะต้องย้อนกลับไปรื้อฉากนั้นทิ้งแล้วเปลี่ยนซีนที่เหมาะสมกับแนวเรื่องของเราเอาไว้ อย่าไปคิดเสียดายเด็ดขาดเลยนะ เพราะถ้าเรารู้ตัวตั้งแต่แรก การปรับนิยายให้กลับมาเป็นแนวเดิมย่อมง่ายกว่าจริงไหม

7. อย่าเริ่มลงมือเขียนหากยังไม่มีพลอต

           มาถึงข้อสุดท้ายแล้ว ซึ่งคิดว่าเป็นข้อที่ทำง่ายที่สุดในบรรดา “7 เรื่อง…อย่าหาทำในขั้นตอนการคิดพลอต” เลย นั่นคือ ถ้ายังไม่มีพลอตเราอย่าเพิ่งลงมือเขียนดีกว่า แม้นักเขียนหลายคนชอบอาศัยวิธีการด้นสดไปตลอดทั้งเรื่อง โดยไม่มีการวางพลอตเรื่อง ต้น กลาง และจบไว้ตั้งแต่แรก มันก็เหมือนกับการขับรถไปที่ที่เราไม่รู้จัก โดยไม่มี GPS มันอาจจะทำให้เราไปถึงจุดหมายได้แต่อาจจะถึงช้าหน่อย ไม่ก็…บางครั้งก็…อ้าว! เราอยู่ที่ไหนกัน? (นั่นคือการพานิยายของเราออกสู่ทะเลอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่นั่นเอง) หรือไม่ อ้าว! ทางนี้ทางตันนี่นา? (กลายเป็นอาการสมองตีบตันคิดไม่ออก ดองเรื่องนี้ เปิดเรื่องใหม่สวยๆ ดีกว่า)

ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหานี้ จึงขอแนะนำว่าเราควรยอมเสียเวลามาเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนพลอต และวางโครงเรื่องต้น กลาง จบไว้ให้เสร็จก่อน เพื่อเป็น GPS คอยกำกับไม่ให้เราหลงทาง จากนั้นก็ลงมือเขียนกันเลย

           จบไปแล้วกับ “7 เรื่อง…อย่าหาทำในขั้นตอนการคิดพลอต” ซึ่งเชื่อว่าหัวข้อพวกนี้เพื่อนนักเขียนทุกคนสามารถนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนด ปรับปรุงนิยายของตัวเองให้สมบูรณ์แบบขึ้นไปอีก แต่ถ้าใครยังนึกไม่ออกบอกไม่ถูกว่าจะสร้างพลอตเรื่องอย่างไรให้เรียงลำดับ ต้น กลาง จบของเรื่องแล้วปรับความสนุกเหล่านั้นให้เรียบร้อย ก่อนลงมือขยายเป็น Treatment (โครงเรื่องขยาย) ได้ เรามีตัวช่วยมาแนะนำนั่นคือ Story Tools ตัวช่วยสำหรับนักเขียนที่จะเป็นหมุดให้เราเดินไปในกระบวนการสร้างองค์ประกอบและพลอตเรื่องได้ค่ะ อยากทดลองใช้สามารถใช้ได้ฟรีที่นี่ https://storybowl.co/tools  แล้วถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วเกิดชอบก็กดไลก์ กดแชร์ไปให้คนอื่นอ่านได้อีกนะ หรือถ้ามีไอเดียอะไรเด็ดๆ เพิ่มเติมหรืออยากบอกเพื่อนๆ นักเขียนร่วมชะตากรรมด้วยกัน ก็สามารถคอมเมนต์ใต้โพสต์บอกกันได้เลยน้า

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

บทความล่าสุด

หมวดหมู่บทความ

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า