วันนี้คุณสนใจอยากเรียนเรื่องอะไร...

พราว-พัชสนันท์ Writer ที่เติบโตจากการเขียนนิยายสู่ Narrative Game เพราะงานเขียนแตกแขนงได้ไม่สิ้นสุด 

“การเขียนคือพรสวรรค์ แต่หากอยากอยู่วงการนี้ให้ยาวต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง”

จากก้าวเล็กๆ ของนักเขียนนิยาย No name พัฒนาตนเองสู่การเป็นนักเขียนมืออาชีพที่มีหลากหลายนามปากกา ตลอดการทำงานในวงการงานเขียนกว่า 20 ปี ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในนามปากกา วาฬน้ำเงิน นักเขียนที่มียอดขายนิยายสูงกว่า 200,000 เล่ม และในตอนนี้เธอได้ Challenged ตัวเอง ด้วยการใช้ประสบการณ์และทักษะที่มีก้าวเข้าสู่วงการเขียนบทเกม บทความนี้เราจึงมีไอเดียและแนวความคิดของเธอมาเล่าให้ฟังค่ะ…

จากบทสัมภาษณ์ของคุณพราว พัชสนันท์ รัตน์บำรุงสุข นักเขียนอาชีพเจ้าของนิยายซีรีย์ชุดสุดฮอตเรื่อง ภาม คนรับจ้างตายที่ยังเขียนอยู่กับสำนักพิมพ์พูนิก้าจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีนิยายชุด ร้านขายของเล่นของผู้เป็นอัตตานิรันดร์, การ์ตูน ภาม คนรับจ้างตาย อีกยังมีผลงานทั้ง นิยายในเครือสำนักพิมพ์ Meedees และนิยายในเครือสำนักพิมพ์ สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย ด้วยเช่นกัน เรียกว่ามีผลงานเขียนหลากหลายและต่อเนื่อง

คุณพราวเริ่มต้นสร้างชื่อให้ตนเองจากความชื่นชอบการเขียน เริ่มจากเขียนเรียงความประกวดวันแม่ วันพ่อ แล้วมาค้นพบว่าตัวเองหลงใหลการเขียนแนวสยองขวัญ จนมีนิยายชุดเป็นของตัวเองตั้งแต่ปี 2549 เป็นนิยายชุด 6 เล่มจบชื่อโรงเรียนระทึกขวัญ นอกจากนี้ยังเคยเป็น Producer และเป็นบรรณาธิการดูแลนักเขียนฝึกหัดของสำนักพิมพ์พูนิก้า เรียกได้ว่าเป็นคนชอบหาประสบการณ์จากงานหลากหลาย โดยล่าสุดก็มองหาความท้าทายบทใหม่ด้วยการก้าวไปเป็น Narative Writer นักเขียนบทเกม

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้จักอาชีพ Narrative Writer หรือ นักเขียนบทเกม ว่าเป็นอย่างไร บทความนี้มีกุญแจไขความลับให้รู้กันอย่างแน่นอนค่ะ

Writer VS Narrative Writer แตกต่างกันอย่างไร

มาเริ่มที่ Writer ก่อนเพราะเป็นสายที่ถนัดที่สุด การเขียนส่วนใหญ่เราจะต้องมีการวางพล็อต วางโครงเรื่อง คิด Premise หรือสิ่งที่จะบอกเล่าไอเดียของเรื่อง จริงๆ วิธีการคิดและการเขียนนิยายกับ Story เกมมันคล้ายกันมาก จะไปต่างกันตอนที่ขยายเรื่อง การขยายการเขียนนิยาย คนอ่านต้องการที่จะเห็นภาพผ่านตัวหนังสือ ดังนั้นเราจึงต้องเขียนให้มีทั้งการบรรยายลักษณะตัวละคร บรรยายสถานที่ บรรยายสถานการณ์ที่ตัวละครคุยกัน บรรยายอารมณ์ต่างๆ ของตัวละครนั้นๆ ให้เต็มที่ เพื่อที่ให้คนอ่านรู้สึกและมีอารมณ์ร่วมไปด้วย

ส่วน Narrative Writer นั้นนอกเหนือจากที่เราจะคิดว่า story เป็นยังไงแล้ว การเล่าเรื่องราวไม่ได้เล่าแค่บทสนทนา แต่มันคือการเล่าฉากด้วย เหมือนเวลาเล่นเกมแล้วเข้าไปในฉาก จะเห็นแล้วว่าฉากนี้มีอะไรบ้าง อาจจะสร้างว่ามีกล่องวางอยู่ แล้วเวลาผู้เล่นเข้าไปเปิดกล่องจะเจอ Item อะไร ข้อความอะไร เหมือนการเล่าเรื่องเป็นช็อทๆ เท่านั้นยังไม่พอ เกมจะมีทางเลือกให้กับผู้เล่นด้วย จะไม่เหมือนการเขียนนิยายตรงที่ถ้าเราอยากให้นางเอกกับพระเอกโกรธกัน เราก็เขียนให้โกรธ แต่เกมสไตล์ RPG Roguelike แบบที่เราเขียนนั้นไม่ใช่ มันจะมีทางเลือกว่าจะคุยหรือไม่คุยกันก็ได้ แล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็จะต่างกันตามสิ่งที่ผู้เล่นเลือก เพราะฉะนั้นวิธีการเขียน Narrative มันจะยิบย่อยลงไปอีก

พูดง่ายๆ จะต้องคิดให้เห็นภาพ และก็ต้องคิดให้เป็นเหมือนแผนผังต้นไม้ ที่จะแตกย่อยไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าคนสร้างเกมอยากให้มีตอนจบแบบไหนบ้าง และผู้เล่นสามารถเลือกอะไรได้บ้าง อย่างมีตัวละครสามตัว แต่ละตัวก็มีสกิลไม่เหมือนกัน ก็มีโอกาสจะเจอเนื้อเรื่องไม่เหมือนกันอีก เราต้องคิดให้ครอบคลุมและก็ต้องลองเทสดูบ่อยๆ อีกอย่างเราจะต้องเขียนให้เกมมีความน่าสนใจ ให้ผู้เล่นจดจำและพูดถึงได้ตลอด ถ้ามีทางให้เลือกเยอะ มีตอนจบหลายแบบทั้งแบบ Bad Ending หรือ Happy Ending ขึ้นอยู่กับคนเล่นเลือกระหว่างเล่นมาแบบไหน คนเล่นก็จะยิ่งสนุก สามารถกลับมาเล่นซ้ำอีกได้ไม่เบื่อ ถ้ามีตัวเลือกน้อยความน่าสนใจก็อาจจะน้อยลงไปด้วย แต่ก็มีนะ เกมที่มีทางเลือกหรือสตอรี่เดียว แต่วิธีการเขียนกับวิธีเล่นก็จะแตกต่างออกไปไม่เหมือนกัน

ดังนั้นหน้าที่และบทบาทของสองอาชีพนี้ แตกต่างกันตรงที่ว่าแม้ว่าเราจะเป็น Writer เหมือนกันที่แกนหลักคือการเขียน แต่วิธีการทำงานต่างกัน Writer หรือนักเขียนนิยายทำงานกับจินตนาการ ส่วน Narrative Writer ทำงานเกี่ยวกับการสร้างประสบการณ์

Writer สามารถทำคนเดียวได้ แต่ Narrative ต้องทำเป็นทีมเท่านั้น เพราะเราจะต้องคุยร่วมกันว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร เหมือนอย่างเลโก้ที่ต้องมีตัวต่อหลายๆ ตัวมารวมกันเป็นหนึ่งชิ้นงาน เราก็คือตัวต่อตัวหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบนึงในนั้น ดังนั้นแต่ละฝ่ายต้องช่วยกันทำให้ภาพรวมของเกมมันบาลานซ์ที่สุด

สิ่งที่เหมือน VS สิ่งที่ต่างในการเขียนนิยาย กับการเขียนบทเกม

การเขียนนิยายกับการเขียนบทเกมแตกต่างกันที่ Concept บทเกมจะมีความค่อนไปทางบทละคร บทภาพยนตร์มากกว่าการเป็นนิยาย การเขียนจะไม่พร่ำพรรณนาบรรยายเหมือนที่การเขียนนิยายทำ แต่สิ่งที่เหมือนกันสุดๆ เลยก็คือการวางโครงสร้าง เพราะการวางโครงสร้างเป็นพื้นฐานของการทำ Story ทุกสาย

หลักการเขียนเกมจะต้องวาง Concept ควบคู่กันไปสองอย่าง คือ เนื้อเรื่องกับภาพที่ออกมาต้องสอดคล้องกับ Call to Action หมายถึงว่าพอลองเล่นแล้วออกมาเป็นยังไง ยกตัวอย่างเช่น เขียนไปแล้วมีทุกอย่างตามที่ต้องการ แต่ทดลองเล่นแล้วไม่สนุก ก็ต้องเขียนใหม่ อีกอย่างคือผู้เล่นเกมจะมีสองแบบ หนึ่งคืออยากรู้เนื้อเรื่อง อยากรู้ว่าตัวละครคุยอะไรกัน สองคืออยากฟาดฟันอย่างเดียว บทสนทนาขึ้นมากดข้ามโลด เราต้องหาทางเลือกให้ผู้เล่นสองแบบนี้ให้ได้ ไม่เหมือนนิยายที่บอก Concept ว่าเราอยากได้แบบนี้นะ Genre นี้นะ พอเขียนไปจะรู้สึกสนุกในตอนนั้นเลย ซึ่งเกมจะรู้ว่าสนุกได้ก็ต่อเมื่อได้ลองเล่นแล้วเพราะมันสื่อกับอารมณ์ผู้เล่นในขณะนั้น

ทักษะพื้นฐานที่นักเขียนควรมีคืออะไรบ้าง

ทักษะที่ต้องมีคือ อ่านให้เก่ง เล่าให้ได้ แล้วก็ลำดับการเขียนให้ดี 

ทักษะการอ่าน นักเขียนที่ดีควรจะอ่านเยอะๆ ไม่จำเป็นต้องหลากหลายก็ได้ อ่านแค่ที่ชอบแต่ต้องจับใจความได้แล้วลองสรุปตามที่เข้าใจออกมา ข้อดีของการอ่านเยอะๆ คือเราจะยิ่งมีคลังศัพท์ที่ใช้ในการเขียนเยอะขึ้น

เมื่อสรุปที่อ่านออกมาแล้ว ก็จะต้องมีทักษะที่สองนั่นก็คือ ทักษะการเล่า ลองเอาสิ่งที่อ่านมาไปเล่าให้เพื่อน ให้พ่อแม่ฟัง หรือแฟนก็ได้ ลองดูว่าตัวเองสามารถเล่าเรื่องให้คนฟังสนุก เห็นภาพชัดเจน และเข้าใจเรื่องที่เราอธิบายออกไปหรือไม่

พอเราได้อ่านได้เล่าแล้วก็จะพัฒนาไปเป็นทักษะการเขียน การเขียนจะมีอยู่สองอย่างที่เราชอบมากๆ เลย นั่นคือหนึ่งการเขียนไดอารี่ การเขียนไดอารี่คือการฝึกการเล่าเรื่องของเราเองให้อยู่ในรูปแบบตัวหนังสือ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเราอยากจะเขียนอะไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้าง ได้กลับไปอ่านก็สนุกดี และได้ฝึกการเขียนให้ดีขึ้นด้วย

สองคือ เขียนสิ่งที่ชอบ บางคนอาจจะอยากเขียนจดหมายรักก็ได้นะ ตามใจ ไม่ติด ขอแค่ชอบ อย่างเราชอบการเขียนเรื่องสยองขวัญ เนื่องจากว่าเราขี้กลัว เราเลยอยากถ่ายทอดความกลัวให้คนอื่นรู้ว่าเรากลัวแบบไหน เราก็จะเขียนในจุดที่เรากลัวมากๆ ลองเขียนแล้วรู้สึกว่าทำได้ดี เลยเริ่มจากเรื่องสั้นก่อน แล้วค่อยขยับไปทำเรื่องยาว

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้ คือควรเติมความรู้ให้ตัวเองเยอะๆ เพราะความรู้เป็นเรื่องที่ไม่มีวันสิ้นสุด เราสามารถเอาความรู้ใหม่ๆ ที่ได้มาประยุคใช้ในงานเขียนให้ดียิ่งขึ้น

เหล่านี้คือทักษะพื้นฐานที่นักเขียนควรมี ถ้ามีแล้วสามารถนำไปต่อยอดตามสิ่งที่ชอบได้เลย อาจจะไปเป็นนักเขียนนิยาย นักเขียนเพลง เขียนบทหนัง หรือแม้แต่เขียนบทเกมก็ได้

ปัญหาที่เจอในการทำงานเขียนมีอะไรบ้าง

สิ่งที่เจออย่างแรกคือ ตอนต้นกับตอนจบง่ายกว่าตรงกลาง เพราะส่วนมากเราจะคิดตอนต้นและตอนจบเอาไว้แล้ว แต่ระหว่างทางที่จะเขียนจากต้นไปจนจบได้นั้นมีปัญหาตามมาเยอะมาก เช่น จะต่อฉากนี้ยังไง จะทำไงให้เนื้อเรื่องไม่ออกทะเลยังไง บางทีเขียนไปแล้วจบตามที่คิดไว้ไม่ได้ ต้องไปคิดตอนจบแบบอื่นแทนก็มี ดังนั้นปัญหาหลักคือการจะทำยังไงให้ต้นกลางจบมันสมูทไปด้วยกันทั้งหมด

อย่างที่สองคือ ปัญหาสมองตัน ไปต่อไม่ได้ พอไปต่อไม่ได้ก็จะเกิดความเบื่อ และจะรู้สึกว่าไม่อยากทำงานนี้ต่อแล้ว ทั้งๆ ที่เราอยากให้มันไปถึงตอนจบ วิธีแก้ขั้นแรกก็คือไปพักสมองก่อน ลองหาอะไรที่ชอบทำ คลายความเหนื่อยล้า ปรับให้สมองปลอดโปร่ง แต่ถ้ายังไม่หายก็ต้องใช้วิธีลบช่วงที่ทำให้ตันออกไป แล้วลองดูว่าทำยังไงต่อได้บ้าง บางทีลบเป็นหน้าหรือลบทั้งตอนเลยก็มี พอลบแล้วก็ดีขึ้น แต่ก็จะมีคำถามตามมาว่าทำไมไม่ทำให้ดีตั้งแต่แรก เพราะตอนนั้นเรารู้ว่าเราจะเขียนอะไร แต่เราไม่รู้ว่าจะใช้ระบบอะไรเอามาคิดตัดสินใจว่าเราจะลงฉากนี้ตรงไหน ไปต่อยังไง

ตอนนั้นวิธีจัดการความไม่รู้ก็คือเขียนสิ่งที่ต้องการลงในกระดาษ ว่าขาดอะไร ต้องการอะไรเขียนลงไปให้หมดแล้วค่อยเรียบเรียง แต่พอได้มาเจอกับคลาสเรียนของ Story BOWL แล้วทุกอย่างก็ง่ายขึ้น

จากที่เรียนกับ Story BOWL มา อะไรที่คิดว่าใช้แก้ปัญหาในงานได้จริง

อันดับแรกเลยคือ เครื่องมือ Story BOWL Canvas พอเราได้เรียนแล้วจะรู้เลยว่า เครื่องมือคืออะไร ใช้งานอะไร ถูกเรียกว่าอะไร และสามารถเอาเครื่องมือที่เรียนรู้มาไปคุยกับบ.ก.ที่รู้จักเครื่องมือนี้เหมือนกันได้ เรียกได้ว่าคุยภาษาเดียวกัน ทำให้งานเสร็จไวมาก และบางอย่างที่รู้สึกว่าขาดหายไป แต่ตอบไม่ได้ว่าคืออะไร มันถูกเติมเต็มได้ด้วยเครื่องมือนี้ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อก่อนเราไม่รู้เลยว่าต้องใส่ Hint ไว้ตรงไหน Beat เป็นยังไง แต่พอมีเครื่องมือเข้ามา เราก็สามารถวางโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น รู้ว่าจะวางอะไรไว้ตรงไหน เมื่อโครงสร้างแข็งแรงเรื่องก็ไม่มีทางออกทะเล อีกทั้งลดเวลาในการทำงานลงไปได้มาก จากเมื่อก่อนเขียนหกเดือน ตอนนี้เขียนสองเดือนเสร็จ และที่ดีมากๆ เลยคือ หากสะดุดตรงไหน เราไม่จำเป็นต้องกลับไปรื้อแก้ใหม่ทั้งหมด เพราะเราจะเห็นจากเลยว่ามันขาดตรงไหน ตรงไหนต้องอุด เนื่องจากเรามีโครงสร้างที่แน่นอยู่แล้ว

 คำแนะนำเพื่อพัฒนางานเขียนให้เป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอ

ต้องบอกก่อนว่า ตลาดหรือความต้องการของผู้เสพมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เช่น ก่อนหน้านี้ก็จะเป็นยุคของ Light Novel ต่อมาก็ยุคของนิยายวายที่มาแรงมาก ซึ่งการเป็นที่ต้องการของตลาดเนี่ย ไม่ใช่ว่าเห็นกระแสปุ๊บ จะทำปั๊บเลยได้ แต่เราต้องรู้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จน่ะเขาทำยังไง

  อย่างแรกเลย ต้องหาข้อมูล การหาข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อที่จะได้รู้ว่าตอนนี้ตลาดต้องการอะไร ต่อมาก็ต้องหาข้อมูลประกอบสิ่งที่จะเขียน ยกตัวอย่างเช่น หนังต่างประเทศที่เกี่ยวกับสายอาชีพ หลายคนที่ดูบอกว่ามันสนุกมาก นั่นเพราะคนเขียนหาข้อมูลเชิงลึกมาประกอบเยอะมาก ทุกอย่างต้องสมจริงและเป็นไปได้ สมติถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น สถานการณ์จริงๆ แก้ปัญหายังไง มันจะทำให้เรื่องที่เราเขียนเป๊ะมากขึ้น

เคยสังเกตไหมว่า เรื่องที่ดังบางครั้งอาจจะโดนแฉว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง จากกระแสบวกกลายเป็นลบทันที เพราะว่าเรื่องนั้นไม่มีองค์ความรู้ที่ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูลที่ถูกต้องมาก่อน หรืออาจจะหามาไม่เพียงพอ

อย่างที่สองต้องพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับพัฒนางานเขียน อย่างเราเองเคยต้องเขียนบทความเกี่ยวกับอาการทางจิต เราต้องถึงขั้นโทรไปคุยกับนักจิตวิทยาเพื่อขอข้อมูลที่ถูกต้อง หรือถ้าเรามองเรื่องของตลาด ตอนนี้ตลาดงานเขียนจีนโบราณมาแรงมาก แต่เรายังไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับจีนเลย ไม่รู้เลยว่าคนจีนเขาเรียกกันยังไง ตำแหน่งเป็นยังไง คนที่ไม่รู้แล้วพยายามเลียนแบบโดยยึดจากการอ่านจากนิยายเรื่องนั้นเรื่องนี้มาแล้วเขียนตามเขาไป เวลาเจอนักอ่านที่รู้ลึกรู้จริงกว่าก็โดนติ โดนต่อว่า หรืออาจจะโดนคอมเมนต์แย่ๆ ได้

แนะนำวิธีการ Research หรือ การหาข้อมูลเริ่มจากอะไร เอาง่ายๆ เลยนะ ยกตัวอย่างจากงานเขียนบทเกมที่ทำ จะต้องเขียนเกี่ยวกับ Quantum Physics เราก็เริ่มค้นใน Google จากคำนี้ ลองดูความหมาย ที่มา ที่ไปจากหลายๆ เว็บก่อนแล้วค่อยลงลึกถึงรายละเอียดที่เราต้องเขียน ถ้าค้นแล้วยังเข้าไม่ถึง ยังไม่กระจ่าง แนะนำให้ไปถามเพื่อน ถามคนที่รู้เรื่องนี้จริงๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น แล้วก็กลับมาค้นในอินเตอร์เน็ตเพิ่มเพื่อนำสิ่งที่ได้มาสนับสนุนข้อมูลที่มีทำให้งานเขียนสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

ความสำเร็จของนักเขียนอาชีพในมุมมองของตนเองคืออะไร

การได้ตีพิมพ์นิยายครั้งแรก คือ การประสบความสำเร็จขั้นแรกของเรา ตอนที่ได้พิมพ์เล่มแรกคือมีความสุขมาก แต่ต่อมาพอได้เริ่มทำซีรีส์ก็รู้สึกว่าเราได้ก้าวไปอีกขั้น และสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าประสบความสำเร็จจริงๆ คือการทำให้เรื่องที่เราเขียนมันมีคุณค่า ถูกพูดถึง ถูกบอกต่อ และสิ่งที่เราสื่อไปในนิยายมันไปถึงนักอ่าน ทำให้นักอ่านมาติดตามเรา

อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากจะก้าวเข้ามาเป็นนักเขียน

อยากบอกว่าตลาดยุคนี้มันค่อนข้างเปิดกว้าง เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนในสังกัดเลย ไม่ต้องมีเล่มก็ได้ แค่มี E-book ก็เป็นนักเขียนได้แล้ว จะเขียนลง Platform ไหนก็ได้ แต่จะทำยังไงให้คนเข้ามาอ่าน หลายคนอาจจะเจอปัญหาว่าทำมาตั้งหลายเรื่องแต่ไม่มีใครเข้ามาอ่านเลย ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน เราก็ต้องมาลองคิดวิเคราะห์แล้วก็ลองปรับดู ดังนั้นสิ่งที่อยากฝากคือ ตอนนี้ใครก็เป็นนักเขียนได้ แต่การจะเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีทั้งความชอบ ความขยัน พรแสวง และที่สำคัญเราควรมีเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้ดีด้วย

         เป็นยังไงกันบ้างคะ บทความนี้ตอบโจทย์เพื่อนๆ ที่กำลังมองหา หรืออยากต่อยอดจากอาชีพสายนักเขียนบ้างรึเปล่า อย่างไรแล้วไม่ว่าจะทำงานในสายอาชีพใด จงอย่าหยุดนิ่ง อย่าย่อท้อ และอย่าหยุดพยายามนะคะ เพราะไม่มีความสำเร็จไหนที่ไม่ต้องใช้ความพยายามค่ะ ทางทีมงาน Story BOWL เองก็จะไม่หยุดพยายามหาข้อมูลดีๆ จากคนที่ประสบความสำเร็จมาฝากเพื่อนๆ อีกแน่นอน ถ้าชอบก็ฝากกดแชร์และคอมเมนต์เป็นกำลังใจด้วยนะคะ

สัมภาษณ์โดย ทีมงาน Story BOWL

เรียบเรียงโดย ธัสษุภา (Cylinly)

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

บทความล่าสุด

หมวดหมู่บทความ

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า