วันนี้คุณสนใจอยากเรียนเรื่องอะไร...

เขียน “ช่วงเปิดเรื่อง” อย่างไรให้นิยายเราปัง

“ไม่มีกฏเกณฑ์แน่นอนใดๆ ในการเปิดฉากนิยาย

มีเพียงคำตัดสินจากคนอ่านเท่านั้นว่าเราเปิดมันได้ดีพอหรือไม่…”

ในช่วงนี้ที่ content เกี่ยวกับสตอรี่ ไม่ว่าจะเป็น นิยาย หนัง ซีรีย์ การสร้างเรตติ้งก็เป็นส่วนสำคัญต่องานนั้นๆ สังเกตว่าหากซีรีย์เรื่องไหนสนุกตั้งแต่ตอนแรก คนก็จะบอกต่อ ให้คะแนน และวิจารณ์ในทางบวกทันที และแม้ว่าในช่วงกลางความสนุกจะแผ่วลง ผู้ชมก็ยังคงรอรู้เรื่องจนจบได้ หากเราสร้างปมไว้ให้ลุ้นแต่ต้น

งานเขียนเองก็เช่นกัน…

นี่คือความเป็นจริงที่นักเขียนนิยายทุกคนต้องเจอประสบการณ์นี้ เราจะเปิดเรื่องอย่างไรให้ดีพอที่คนอ่านจะติดตามไปเรื่อยๆ จนจบได้ โดยเฉพาะถ้าเราลงนิยายออนไลน์เป็นตอนในเว็บไซต์ต่างๆ จะยิ่งเห็นชัดว่าหลายครั้งนิยายตอนแรกมีคนกดมาอ่านเยอะ แต่พอผ่านไปยอดวิวกลับลดฮวบเฉยเลย

เพราะโดยส่วนมากแล้วนักอ่านในยุคใหม่โดยเฉพาะนิยายออนไลน์มักจะตัดสินนิยายของเราตั้งแต่ 2 บทแรก หากไม่สนุก ยืด เอื่อย ก็เป็นไปได้ว่าจะไม่อดทนพอที่จะอ่านต่อ และของดีที่เราเก็บซ่อนไว้ก็จะถูกสื่อออกไปไม่ถึง เมื่อเรื่องหมดเวลาเป็นนิยายใหม่ก็จะตกไป

แม้แต่นิยายรูปเล่ม การเปิดเรื่องไม่ดึงดูดก็มีผลเช่นกัน ดังนั้น ในบทความนี้ พี่พราวจึงจะมาว่าด้วยการ “เปิดเรื่อง” นิยายของเรากันนะคะ

โดยปกติแล้ว นักเขียนจะมีวิธีการเปิดเรื่องนิยายที่ใช้กันอยู่ 5 แบบด้วยกัน

1. เปิดด้วยบทสนทนา

บางครั้งนักเขียนจะดึงดูดคนอ่านด้วย บทพูดแรกที่ทำให้เห็น Plot point ของเรื่องทันทีเพื่อดึงดูดคนอ่านว่าคุณกำลังจะได้เจอเรื่องราวอะไร เช่นเราเปิดด้วยคำพูดของตัวละครหลักว่า…

“ให้ตายเถอะ… เงินตั้งห้าแสนในสามวัน ฉันจะไปหามาจากไหนทัน?”

เธอโพล่งออกมาทันทีที่รู้ว่าต้องมาชดใช้ในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่อ…

เพียงขึ้นต้นเรื่องมาด้วยประโยคนี้ ผู้อ่านก็จะรู้แล้วว่าตัวเอกของเราอยู่ในสภาวะลูกหนี้ที่มีเงื่อนไขเป็นจำนวนเงินและเวลากระชั้น คนอ่านจะเกิดความสงสัยได้หลากหลาย ว่าเหตุใดจึงต้องหาเงิน หาให้ใคร และจะหาจากไหน จุดมุ่งหมายนี้ก็เพื่อให้เรารับรู้อุปสรรคที่ตัวละครเผชิญตั้งแต่เริ่มแรก

ทริคเล็กๆ เพื่อเปิดให้ปัง : การเปิดเรื่องด้วยบทสนทนา ต้องเป็นข้อความคำพูดหรือประโยคที่มีพลังในการเดินเรื่อง ไม่ใช้การคุยกันปกติ หรือไม่มีที่มาที่ไป ซึ่งเราจะเรียนรู้กันต่อในบทความการใช้ Dialogue  ให้ทรงพลัง

2. เปิดเรื่องด้วยการกระทำ

การเล่าเน้นพฤติกรรมของตัวละครในนิยายตั้งแต่ฉากแรกให้เห็น มักจะช่วยให้คนอ่านรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดไปพร้อมกับตัวละคร ยกตัวอย่างเช่น

สายตาคู่หนึ่งกำลังจับจ้องของพวกเขาทั้ง 5 ตั้งแต่ก้าวแรกที่ทั้งหมดเดินเข้ามาสู่ถ้ำแห่งนี้… ก่อนจะเล็งปืนสลับไปมา เพื่อสุ่มว่าใครคือผู้โชคดีรายแรกที่ได้รับกระสุน

เมื่อเราเปิดเรื่องเช่นนี้ ภาพในความคิดคนอ่านก็จะตามสายตาของตัวละครนั้น ช่วยดึงดูดอารมณ์ของนักอ่านให้ร่วมลุ้นไปว่าการกระทำนี้จะส่งผลเช่นไรต่อเนื้อเรื่อง อีกทั้งยังช่วยให้จังหวะของเรื่องมีความตื่นเต้นตั้งแต่ต้น

ทริคเล็กๆ เพื่อเปิดให้ปัง : การกระทำนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นฉากแรกของไทม์ไลน์เท่านั้น เราสามารถใช้ฉาก เหตุการณ์สำคัญมาดึงดูดในตอนเปิดเรื่องได้เลย  

3. เปิดด้วยความนึกคิดของตัวละคร

การเปิดเรื่องรูปแบบนี้มักจะเป็นการเล่าผ่านตัวละครที่กำลังเผชิญปัญหาหรืออุปสรรคบางอย่าง

ที่นี่มันที่ไหนกันทำไมมืดจัง…?

เกิดอะไรขึ้น ผู้กองหายไปแล้ว…?

ความรู้สึกหนักอึ้งราวกับแบกบางอย่างไว้บนศีรษะแทรกเข้ามาทันทีที่เขาลืมตา กลิ่นคาวเลือดคละคลุ้งในความมืดโชยมาแตะจมูกบอกให้รู้ว่ามีบางสิ่งผิดปกติ

เมื่ออ่านความนึกคิดนี้ตั้งแต่ต้นเรื่อง ผู้อ่านจะมองถึงปริศนาที่ตัวละครของเรากำลังเผชิญ ความคิดที่เกิดขึ้นจะเป็นเหมือนชุดข้อมูลเหตุการณ์ที่เราจะเขียนใส่หรือซ่อนอะไรไว้ในนั้นก็ได้

ทริคเล็กๆ เพื่อเปิดให้ปัง : อย่าใส่แค่ความคิดทั่วไป ต้องใส่ Hint หรือ กิมมิคที่มีความสำคัญลงไปให้คนอ่านติดตามนะคะ

4. เปิดด้วยบทบรรยายฉาก

โดยมากนักเขียนที่ต้องการเล่าเรื่องของฉาก มักจะใช้ฉากที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราว หรือสร้างบรรยากาศจากฉากไปสู่ตัวละครเพื่อค่อยๆ นำคนอ่านไปรู้จัก เน้นความสละสลวยของงานเขียน

ยกตัวอย่างเช่น

อากาศยามเช้าวันเปิดภาคเรียนวันแรกแสนสดชื่น นักเรียนระดับมัธยมฯ ต่างก็กำลังตบเท้าเดินเข้ามาในโรงเรียนกันเป็นทิวแถว บ้างก็เป็นเด็กใหม่ไม่ประสา บ้างก็เป็นนักเรียนเก่าจับกลุ่มคุยกันไปตั้งแต่ประตูหน้าโรงเรียน มันดูไม่ต่างจากวันเปิดเทอมเก่าๆ ที่ผ่านมา เว้นแต่ว่า ที่นี่เป็นที่ใหม่ไม่เหมือนเคย

ไอรดายืนมองดูโรงเรียนสหศึกษาชานเมืองกรุงตรงหน้าอย่างสนใจ เธอไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าจะได้มาเรียนที่แห่งนี้ ที่ซึ่งสอบเข้าได้อย่างยากเย็นแถมยังรับนักเรียนม.ปลายหน้าใหม่เพียงสามสิบคนเท่านั้น

จะเห็นว่าเราได้ข้อมูลบางอย่างจากการบรรยายฉาก ไปพร้อมๆ กับการสร้างภาพของบรรยากาศโรงเรียนขึ้นมาในสมอง ชวนให้เรามีความรู้สึกคล้ายกลับไปเป็นเด็กใหม่เหมือนไอรดา ซึ่งแน่นอนว่า เราสามารถบรรยายลักษณะคาแรกเตอร์ตัวละครไปด้วยได้

ทริคเล็กๆ เพื่อเปิดให้ปัง :  ยิ่งถ้าหากฉากนั้นมีความสำคัญ เช่น เป็นฉากหลักที่ใช้ในเรื่อง ฉากที่เกิดปมในเรื่อง การที่เราเปิดมาด้วยบรรยากาศปกติก่อน จนถึงช่วงสำคัญที่ใช้ฉากนี้อีกครั้งในแบบที่ต่างไป ภาพที่เราสร้างไว้กับคนอ่านแต่แรกจะทำให้ความเข้าใจเนื้อหานิยายชัดเจนมากขึ้น

5. เปิดด้วยการชี้แจง

วิธีนี้คือ เปิดมาด้วยการอธิบายให้รวบรัดถึงสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้น หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อเนื้อเรื่องในนิยายของเราอย่างรวดเร็วเพื่อปูพื้นฐานให้คนอ่านเข้าใจข้อมูลนั้นๆ ไว้ก่อน

ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อคำพิพากษาโลกไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2012 ดังคำทำนายของปฏิทินแห่งชาวมายา

มนุษย์ทั้งหลายต่างร่วมเฉลิมฉลองด้วยความลุ่มหลงและประมาท หารู้ไม่ว่า…มีคนกลุ่มหนึ่งกำลังต้องการครอบครองโลกทั้งใบ และพวกเขาก็ทำสำเร็จในอีก 3 ปีต่อมา…

โลกที่มีแต่ความทุกข์ระทม เสียงร้องระงมของคนที่เจ็บเจียนตาย บ้านเรือนวินาศย่อยยับจากการทำลายล้างของระเบิดนิวเคลียร์และสงครามที่เกิดไปทั่วทุกหนแห่ง สารเคมี อาวุธชีวภาพ พรากชีวิตคนไปกว่าครึ่งโลก พื้นที่อาศัยหลงเหลือเพียงทวีปเดียว เถ้าเขม่าควันลอยฟ่องกลางอากาศ ผู้คนต่างถูกรวบรวม ไม่มีประเทศ ไม่มีทวีปอีกต่อไป…

เวลาผ่านไปไม่นาน โลก…เป็นหนึ่งเดียวด้วยกลุ่มผู้นำเดียวที่จัดระเบียบใหม่ให้แก่ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ ระบบที่สร้างขึ้นนั้นก็เพื่อให้คนทั้งโลกได้อยู่ร่วมกันบนพื้นที่จำกัด และวิวัฒนาการซึ่งนำพาความทันสมัยหยุดลงจนมีผู้กล่าวว่ามันคือ ยุคมืดที่แท้จริง…

จะเห็นว่าในการเปิดเรื่องนี้เป็นการเล่าชี้แจงเหตุการณ์ก่อนเข้าสู่ปัจจุบันอันเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่อง (แต่ไม่ใช่เนื้อเรื่องในนิยายของเรา) คนอ่านจะได้รับข้อมูลก่อนเข้าสู่เรื่องราว จะช่วยให้คนอ่านคาดเดาปมปัญหาบางอย่างที่เรากำลังจะสร้างได้บ้าง ทั้งยังให้ความสมจริงกับนิยาย เตรียมตัวคนอ่านให้พร้อมว่ากำลังจะไปเจอกับอะไร

ทริคเล็กๆ เพื่อเปิดให้ปัง : นิยายส่วนมากที่เปิดแบบนี้จะเป็นนิยายที่ต้องให้ข้อมูลสำคัญก่อนอ่านเป็นหลัก หากไม่ได้มีความจำเป็น วิธีนี้อาจจะทำให้เรื่องเนิบนาบเกินไป

……………………..

ทั้งหมดนี้ ถึงแม้ว่า เป็นการ “เปิดเรื่อง” ที่ใช้กันทั่วไปก็จริง และไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนใดๆ ในการเปิดฉากนิยายของเรา แต่การเลือกด้วย Plot ที่เราทำจนเสร็จสมบูรณ์ย่อมดีกว่าการด้นสด เพราะการสร้าง Plot ก่อนลงมือเปิดเรื่อง จะทำให้เราเห็นทิศทางของเรื่องที่เราทำอย่างชัดเจน เราสามารถมองเห็นและตัดสินใจว่าควรใช้อะไรเป็นการเปิดเรื่อง เพื่อดึงดูดนักอ่านให้อยู่กับเราตั้งแต่ต้นจนจบ

แน่นอนว่า ยิ่งผ่านประสบการณ์การเขียนมากขึ้น เรายิ่งนำสิ่งนี้มาเป็นลูกเล่นของตัวเองได้ดีขึ้นไปอีกค่ะ

บทความโดย พี่พราว นามปากกา “วาฬน้ำเงิน”

และตอนนี้ พี่พราวกำลังเปิดคอร์สสอนเขียนนิยาย สามารถสมัคร หรืออ่านรายละเอียดได้ที่นี่เลย

อ่านประวัติของ พี่พราว นามปากกา “วาฬน้ำเงิน” ได้ที่นี่

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

บทความล่าสุด

หมวดหมู่บทความ

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า